"กก.สิทธิฯ" เร่งระงับเหตุขัดแย้งราไวย์ ถามทหารในพื้นที่ปล่อยปะทะได้ไง

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th


คณะกรรมการสิทธิฯ จ่อลงพื้นที่ระงับเหตุขัดแย้งหาดราไวย์ และติดตามความก้าวหน้าการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติครม. ตั้งแต่ปี 53 พร้อมตรวจสอบโฉนดถูกต้องหรือไม่ ถามระหว่างเกิดเหตุมีทหารอยู่...ปล่อยให้ปะทะได้ไง

 

 

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวถึงกรณีเหตุชายฉกรรจ์ปะทะกับชาวบ้านในพื้นที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ตว่า ในวันที่ 1 ก.พ. นี้ อนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ในเบื้องต้น กสม.ต้องไปทำหน้าที่สงบความขัดแย้ง ที่มีการใช้กำลังความรุนแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุมสถานการณ์ ทางอนุกรรมการฯ จะไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้เอง ตนยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยเฉพาะชาวเลในแถบจังหวัดฝั่งอันดามัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ซึ่งได้มีผลงานวิจัยระบุว่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หาดราไวย์ ได้ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันนี้ชุมชนราไวย์มีราวประมาณ 250 ครัวเรือน และวิถีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะมีการทำประมงเพื่อดำรงชีพ พื้นที่นี้ยังใช้ทำพิธีกรรรมหรือเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ แต่ก็เป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง มติ ครม.ที่ให้ตั้งกรรมการชุดดังกล่าวก็เพื่อเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต สร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ตนจะเข้าไปติดตามความก้าวหน้า ส่วนเรื่องความรุนแรงระหว่างชาวบ้านและคนของบริษัทเอกชนนั้น ในวันที่ 2 ก.พ. ทางผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีการใช้ความรุนแรง และทำไมเจ้าหน้าที่ทหารจึงปล่อยให้มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นได้

 

อีกทั้ง กสม.ก็จะตรวจสอบด้วยว่าการได้โฉนดที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวของบริษัทเอกชนเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมทรัพยากรชายฝั่ง ทำไมจึงมีการห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการทำประมงในพื้นที่นั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ถูกกดดันอย่างมาก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนหลายคน ทั้งที่นิสัยพื้นฐานของชาวเลค่อนข้างเป็นคนรักสงบและไม่ถือสิทธิครอบครอง กสม.ก็จะตรวจสอบด้วยว่าหากมีการซื้อที่ดินในบริเวณนั้น ได้มีมาตรการในเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านและมีการประนีประนอมกันหรือไม่ ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่หาดราไวย์สามารถเข้าไปฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ หน้าที่ กสม.จึงต้องเข้าไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดการคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชน

 

ขอบคุณภาพจาก : วิทวัส เทพสง, ไมตรี จงไกรจักร