แทบคายทิ้ง!! ผลตรวจชี้ชัด พบเชื้อโรคท้องร่วงใน "ซาซิมิ-ซูชิ" !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ http://www.tnews.co.th

 

วันนี้(31 ม.ค. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ได้เปิดเผยว่า สำนักอนามัยกรุงเทพมหานครได้ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า  "วิบริโอ คอราลี" ในปลาดิบจำพวกแซลแมนซาซิมิ ในร้านอาหารชื่อดังย่านพระราม 3 หลังจากที่เก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศเมื่อปี 2555 - 2558 เพื่อหาโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งประกอบไปด้วย ปรอท ตะกั่ว และแคทเมียม


ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอน 78 ตัวอย่างพบว่าปนเปื้อนพบสารปรอท 46 ตัวอย่าง ในปริมาณที่พบ 0.01-0.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ตรวจหาสารตะกั่ว 62 ตัวอย่าง พบ 5 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเก็บตัวอย่างปลาแซลมอน 153 ตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารแคทเมียม พบการปนเปื้อนใน 3 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.02-0.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยสรุปได้ว่าพบการปนเปื้อนในปริมาณต่ำ ไม่เกินจากค่าที่ทาง สธ. ได้กำหนดเอาไว้


ขณะที่เมื่อปี 2556 ได้มีการเก็บตัวอย่างเนื้อปลาดิบจากร้านอาหารญี่ปุ่น ภัตราคารต่าง ๆ ซูเปอร์มาเก็ต และมินิมาร์ท 52 ตัวอย่าง ทั้ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อตรวจหาจุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะที่ดีของสถานประกอบการ และตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิดคือ 1. เชื้อวิบริโอ คอราลี (Vibrio cholera )หรือเชื้ออหิวาตกโรค 2. พาราฮีโมไลติคัส (parahaemolyticus) หรือเชื้ออหิวาตกโรคเทียม 3. ซาโมไนลา (salmonella) 4. ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) และ 5. สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และยังตรวจหาพยาธิตัวกลม


ผลการตรวจสอบพบว่า 37 ตัวอย่างพบว่า มีสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี เพราะเจอจุลินทรีย์ 25 ตัวอย่าง เจอเชื้ออีโคไล 1 ตัวอย่าง และเจอทั้งจุลินทรีย์และอีโคไลเกินมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง ส่วนผลการตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรคพบว่ามีเชื้อวิบริโอ และเชื้อพาราฮีโมไลติคัสใน 7 ตัวอย่าง มีเชื้อซาโมไนลา 1 ตัวอย่าง เชื้อลิสทีเรียฯ 5 ตัวอย่าง แต่ไม่เจอพยาธิ


ผอ.สำนักคุณภาพฯ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วกระทรวงไม่แนะนำให้รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะมีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อโรค และพยาธิอยู่สูง หากอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่น ขอให้เลือกร้านที่ทำสะอาด ผู้ประกอบอาหารต้องดีไม่เป็นพาหะของโรคติดต่อบางชนิด ต้องเลือกที่มีเกรด เพราะมีความแตกต่างจากของสดทั่วไป และหากอยากนำกลับมาทำเองที่บ้านควรเลือกที่เป็นซาซิมิโดยเฉพาะ โดยเลือกจากร้านที่มีการเก็บในอุณหภูมิที่พอเหมาะซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก


อย่างไรก็ตาม  ทางกระทรวงและกรมที่เกี่ยวข้องมีการได้เฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง และกำลังเฝ้าระวังซูชิที่วางขายในกระบะตามตลาดนัด ป้ายรถเมล์อยู่ แต่ผลยังไม่ออก หากประชาชนซื้อตามร้านข้างต้นที่กล่าวมาต้องตรวจสอบด้วยตนเองก่อนว่ามีภาชนะปิดป้องกันฝุ่นดีหรือไม่ และแม้ว่าจะมี ได้ใช้แซลมอนสด ปลาหมึกสดมาทำแต่ก็ต้องระวัง เพราะการปรุงมีการใช้มือสัมผัสโดยตรง