"ดาว์พงษ์" เผยเตรียมเสริมทักษะ 4 H นโยบายลดเวลาเรียน

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

 

รมว.ศึกษาธิการ เตรียมอุดช่องโหว่นโยบายลดเวลาเรียน โดยเพิ่มกิจกรรมเสริมทักษะตามหลัก 4 H เน้นพัฒนาสมอง-จิตใจมากขึ้น


วันนี้ (1 ม.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ไปดูกิจกรรมที่ใช้พัฒนาผู้เรียนตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของศิลปะมากกว่าการพัฒนาทักษะอื่นๆ นั้น เรื่องนี้ถือว่ามองตรงกัน และตนย้ำมาตั้งแต่ต้นให้เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลัก 4 H ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง (Head)พัฒนาจิตใจ (Heart) การลงมือปฏิบัติ (Hand) และสุขภาพ (Health) โดยส่วนที่กังวลที่สุด คือ กิจกรรมพัฒนาสมอง ซึ่งครูยังไม่ค่อยเก่ง แต่ทั้งนี้ ได้กำชับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ไปทบทวนและแก้ไข เพราะเรื่องนี้ก็ถือจุดอ่อนของเด็กไทยที่พบมากที่สุด

 

“ใน 4 กิจกรรมผมกังวล คือ เรื่องการพัฒนาสมอง เพราะครูยังไม่เก่งที่จะคิดรูปแบบกิจกรรม แต่ในส่วนทักษะการลงมือปฏิบัติ การดูแลสุขภาพ การพัฒนาจิตใจ เหล่านี้ครูเราทำได้ดี ดังนั้นกิจกรรมพัฒนาสมองจึงถือเป็นจุดอ่อนของทั้งหมด ซึ่งจากนี้ สพฐ.จะต้องทบทวนและคิดหาวิธีการที่จะอุดช่องว่างของปัญหานี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโรงเรียนที่จะเข้าร่วมนำร่องรุ่นต่อไป" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

 

รมว.ศึกษาฯ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนที่นายกฯ พูดว่ากิจกรรมช่วงเพิ่มเวลารู้ หลังเลิกเรียน ส่วนใหญ่จะเน้นศิลปะนั้น เราไม่ปฏิเสธความจริง แต่จะเอาจุดอ่อนนี้มาปรับปรุงแก้ไขและทำให้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ จะไปโทษครูไม่ได้ สพฐ.ต้องไปช่วยคิดหากิจกรรมที่น่าสนใจ ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ และที่สำคัญต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เสียเงินทองด้วย เพราะที่ผ่านมาพบโรงเรียนบางแห่งไปจัดกิจกรรมที่ต้องจ่ายเงิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายโรงเรียนที่นำนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ไปปฏิบัติได้เกิดผลน่าสนใจ เช่น โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มีการนำเด็กๆไปเรียนรู้ที่ปราสาทศีขรภูมิ พอถามว่าเรียนอะไรเด็กก็อธิบายว่าเรียนรู้ทุกอย่าง อาทิ บางวันก็เรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยเรียนรู้มุม องศา มิติจากตัวปราสาท เรียนรู้ภาษาอังกฤษ สวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์น้อย เป็นต้น ถือเป็นการบูรณาการความรู้ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีรุ่นพี่คอยสอนรุ่นน้องด้วย ซึ่งต้องชื่นชมทั้งนักเรียนและครูที่ร่วมกันคิดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นและถือเป็นตัวอย่างดีมาก