รองโฆษก วท. ชวนโรงเรียนเชื่อมโรงงาน วางรากฐานกำลังคน ป้อนระบบเศรษฐกิจ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.com

 

ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บรรยายพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์กับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21”  ให้กับคณะผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 150 คน ที่เข้าร่วมโครงการสัมมนาการจัดการศึกษาในโรงเรียนมาตรฐานสากล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง

 

 
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยวางมาตรการต่างๆ ที่เอื้อให้ภาคเอกชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งภาคการศึกษาต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทดังกล่าว เริ่มต้นจากการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการทำงานจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้กับความท้าทายของการทำงานรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21

 

รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า บริบทการทำงานที่เปลี่ยนไปไม่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนที่ใช้การบรรยายโดยไม่ฝึกปฏิบัติ เพราะแรงงานในศตวรรษที่ 21จำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลายกว่าในอดีตซึ่งใช้แรงงานอย่างเข้มข้น คนรุ่นใหม่จะต้องใช้หลักคิดที่เป็นระบบมีระเบียบแบบแผนคล้ายกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็น รวมถึงต้องทำงานเป็นทีมให้ได้ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยในการทำงาน และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง ซึ่งการสร้างโอกาสให้เยาวชนฝึกฝนทักษะเหล่านี้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วน

 

ดร.วรวรงค์ แนะนำให้ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ได้ผลักดันกระบวนการพัฒนาครูให้เข้าใจในบริบทของการทำงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้บริโภค และนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยอาจเริ่มต้นจากการจัดการเยี่ยมชมโรงงานและสถานประกอบการ ให้คุณครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนทำงานในอาชีพใหม่ๆ และเห็นสิ่งที่ต้องบูรณาการข้ามศาสตร์ในระหว่างการทำงาน จากนั้นคุณครูจะมีเครือข่ายผู้ประกอบการและสามารถเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับการทำงานจริงได้ และสามารถต่อยอดการฝึกฝนประสบการณ์ของนักเรียนในชั้นเรียนหรือการศึกษานอกสถานที่ได้ต่อไป

 

โรงเรียนมาตรฐานสากล เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการการศึกษาที่ สพฐ. ใช้เป็นมาตรการในการยกระดับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพในระดับสากล โดยนำร่อง 500 โรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2553 กับโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ บรรยากาศ หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดการใฝ่รู้ ฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งฝึกทักษะการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บนฐานวัฒนธรรมไทย โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานในศตวรรษที่ 21
โดยหลังการบรรยาย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้นำคณะผู้บริหารเยี่ยมชมรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แนวใหม่ที่กลุ่ม ปตท. สนับสนุน

 

รองโฆษก วท. ชวนโรงเรียนเชื่อมโรงงาน วางรากฐานกำลังคน ป้อนระบบเศรษฐกิจ