"กำจร" เผยเล็งใช้ม. 44 ตั้งกรมวิชาการอีกครั้ง

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

ปลัด ศธ. เผยเล็งใช้มาตรา 44 ตั้งกรมวิชาการอีกครั้ง ชี้หลักสูตรต้องยืดหยุ่นเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ยังไม่ระบุปรับโครงสร้าง ศธ.ปรับใหญ่หรือปรับเล็ก

 

วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง ศธ. ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยในส่วนข้อเสนอของกมธ. การศึกษาฯ ที่เสนอให้พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณานั้น ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่เท่าที่ทราบ กมธ.การศึกษาฯ เสนอให้ศธ.มีขนาดเล็กลง กระจายอำนาจให้มากขึ้น โดยให้มี ปลัด ศธ.เป็นผู้ประสานระดับ 11 เพียงคนเดียว แต่หากจะปรับตามนั้นก็ต้องตอบคำถามให้ได้ด้วยว่า ถ้าให้ปลัด ศธ. มีอำนาจสูงสุด และมีการตัดสินใจผิดพลาด ใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง ตรงนี้ต้องดูทั้งระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจะปรับเล็กหรือใหญ่ไม่สามารถบอกได้ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนตนคงไม่สามารถตอบได้

 

“การเดินหน้าจัดตั้งกรมวิชาการเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งทำ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อจัดตั้ง หรือจะใช้อำนาจของ รมว.ศธ. ประสานภายใน และจัดตั้งเป็นสำนักวิชาการขึ้นมาก่อน เพื่อเดินหน้าในเรื่องการปรับหลักสูตร ซึ่งต่อไปหลักสูตรจะต้องมีความยืดหยุ่นเพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยอาจต้องทบทวนหลักสูตรทุก 3 ปี ไม่ใช่ 10 ปีเหมือนปัจจุบัน จากนี้จะต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้ากรมวิชาการไม่เกิดขึ้น การพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะเดินหน้าไปได้ลำบาก” รศ.นพ.กำจร กล่าว

 


ปลัด ศธ. ยังกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายประชารัฐที่ รมว.ศธ. อยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า มีเรื่องใดบ้าง หากจำเป็นต้องปรับแก้ไขก็ต้องดำเนินการทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาครู และการพัฒนาหลักสูตรต่างๆด้วย ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้กังวลว่าภาคเอกชนจะเข้ามาแทรกแซงการจัดการศึกษา เพราะในต่างประเทศภาคเอกชนก็มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของประเทศด้วย