"ส.ศิวรักษ์" แนะขยี้ "พรบ.สงฆ์ ปี 2505" !! ย้ำ เผด็จการ หลับหูหลับตาโหวตกันเอง

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 


"ส.ศิวรักษ์" หนุนยกเลิก "พ.ร.บ.สงฆ์ 2505"  ที่มีมส.กลุ่มเดียวชี้ถูกชี้ผิดได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่  -แนะใช้ของปี 2484 ที่มาจากเสียงโหวต "สังฆสภา" ซึ่งเปรียบเหมือนรัฐสภา  

 

 

 

 

วันนี้ ( 23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนชาวไทย และนักวิชาการอิสระ เปิดเผยกับสื่อยักษ์ใหญ่  ถึงข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วกลับไปใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ว่า เกิดจากปัญหาอำนาจเผด็จการ เนื่องจากตัวพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นการใช้อำนาจเผด็จการเต็มตัว ในการบริหารกิจการสงฆ์ ไม่มีการกระจายอำนาจ อำนาจทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในมหาเถรสมาคมเพียงกลุ่มเดียว สามารถช่วยเหลือกันหรือชี้ถูกชี้ผิดได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงพระสงฆ์ส่วนใหญ่

 

 

 


          ขณะที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจการปกครองไปตามลำดับชั้น คล้ายกับรูปแบบ "รัฐสภา" ของทางโลก การลงความเห็นและการตัดสินใจ จะใช้การโหวตและออกเสียงจาก "สังฆสภา" นั่นคือการขอความเห็นจากกลุ่มพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมกัน

 

 


          "ผมขอวิงวอนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เพื่อกลับไปใช้กฎหมายสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตย หรือถ้าจะไม่กลับไปใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ก็ควรเขียนกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อนำมาใช้ให้ทันต่อยุคสมัย" นายสุลักษณ์ กล่าว

 

 

 


          นายสุลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เริ่มใช้ในสมัยรัชการที่ 8 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในฝ่ายอาณาจักร จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรคณะสงฆ์ด้วย โดยหัวใจสำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 สรุปใจความสำคัญดังนี้ ระบุให้ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยลำพังพระองค์เองไม่ได้ พระองค์ทรงบัญญัติ "สังฆาณัติ" โดยคำแนะนำของ "สังฆสภา" ทรงบริหารคณะสงฆ์ทาง "สังฆมนตรี" และทรงพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ทาง "คณะวินัยธร"

 

 


          ซึ่ง "สังฆสภา" เปรียเทียบเหมือน "รัฐสภา" ของฝ่ายอาณาจักร "คณะสังฆมนตรี" เปรียบเทียบได้กับคณะรัฐมนตรีของฝ่ายอาณาจักร "คณะวินัยธร" คือ ศาลของพระสงฆ์ มี 3 ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีความ หรือ "อธิกรณ์" เปรียบเสมือนศาลในทางโลกที่มีอยู่ 3 ศาล

 

 

 


          ส่วนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ใช้ในปัจจุบัน เกิดจากความต้องการของรัฐบาล "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" เป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์รวบอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดไว้กับตัวผู้นำ มีการสั่งยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เลิกระบบ "สังฆสภา" ที่เดิมทีมีการกระจายอำนาจ เพราะเห็นว่าเกิดความล่าช้า และมีหลายขั้นตอน จึงแก้กฎหมายให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถระสมาคม มีอำนาจในทางกฎหมายและพระธรรมวินัย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา.