24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์แห่งศิลปะของแผ่นดิน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.Tnews.co.th

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

 

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ 2310 วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหาร วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมด้านวรรณกรรม และ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน

 

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วันที่ 24  กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท นอกจากนี้เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของชาติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน โดยดำเนินการเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ มีวัตถุประสงค์ในขณะนั้นว่า ต้องยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า

 

นอกจากนี้ ยังถือว่า ศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า เป็นปราชญ์ทางด้านศิลปะที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้ที่อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่าไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษย์ชาติ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐและประชาชนชาวไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษาส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และเป็นการสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งให้สืบทอดเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยสืบไป กว่าที่จะมาเป็นศิลปินแห่งชาติได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครจะมาเป็นก็ได้ แต่ต้องมีความสามารถหลายอย่าง และเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักวิชาชีพของตน มีความสร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความเป็นนักปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะมากมาย ใน 3 สาขา ได้แก่


 

1.  สาขาทัศนศิลป์ คือ ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตาแบ่งออกเป็น 1.1 วิจิตรศิลป์ ประกอบด้วย  จิตรกรรม , ประติมากรรม , ภาพพิมพ์ , สื่อประสม และ ภาพถ่าย   2.2  ประยุกต์ศิลป์ ประกอบด้วย สถาปัตยกรรม , สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ , การออกแบบผังเมือง , ภูมิสถาปัตยกรรม , การออกแบบอุตสาหกรรม และ ประณีตศิลป์

 

2. สาขาวรรณศิลป์ คือ บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

 

3. สาขาศิลปะการแสดง คือ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 3.1  ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย  3.2 ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล

 

ลักษณะและความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติ

 

ลักษณะของเข็ม เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่อง อ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งของเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า "ศิลปินแห่งชาติ" และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือเหรียญกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคฑาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์ เชื่อมประสานระหว่างกัน 


     
ความหมาย คือ การแสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ความสารมารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะ ไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชู เกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รบพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานเข็มเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลต่อไป

 

 
 โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกจากการระดมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปะทุกสาขา ดังนี้

 

หลักเกณฑ์ที่ 1 คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ

 

1) เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน

 

2) เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น

 

3) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน

 

4) เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น

 

5) เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน

 

6) เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน

 

7) เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

 


หลักเกณฑ์ที่ 2 คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะ

 

1. ผลงานสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของชาติ

 

2. ผลงานสร้างสรรค์แสดงออกถึงแนวคิด กระตุ้นและพัฒนาทางสติปัญญาแก่มนุษยชาติด้านศิลปะสาขานั้น ๆ

 

3 . ผลงานสร้างสรรค์ให้ความรู้สึกสะเทือนใจ ให้พลังความรู้ และส่งเสริมจินตนาการ

 

4 . ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่นหรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์

 

หลักเกณฑ์ที่ 3 การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ

 

1. ผลงานได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด

 

2. ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

 

 

 

ขอขอบคุณ  http://www.culture.go.th