"เครือข่ายประชาชน" จี้ตำรวจ ไม่มีสิทธิห้ามชุมนุมค้านม.44 เรื่องผังเมือง...แค่คนรับแจ้ง

ติดตามข่าวสารที่ www.tnew.co.th

 

"เครือข่ายประชาชน" จี้ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ทบทวนคำสั่งห้ามชุมนุมคัดค้าน ม.44 เรื่องผังเมือง เพราะเคลื่อนไหวตามกฎหมาย และตำรวจไม่ใช่ผู้อนุญาตหรือไม่อนุญาต...แค่คนรับแจ้งเท่านั้น

 

 

วันนี้ (25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินทางมายื่นอุทธรณ์คัดค้านหนังสือสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะโดยยืนยันขอใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามวัน เวลา และสถานที่ ตามที่แจ้งโดยชอบด้วยกฎหมาย และ ขอให้ทบทวนปรับแก้หนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้ถูกต้องตามหลักการ และช่วยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมชนตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งสืบเนื่องมาจาก สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้ออกหนังสือพิจารณาไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมตามที่ทางเครือข่ายได้แจ้งความประสงค์ไปเมื่อบ่ายวานนี้
      
      

นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่าย กล่าวว่า การวินิจฉัยของ สน.นางเลิ้ง คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ และจะนำไปสู่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีการชูป้าย หรือแสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการเมืองเช่นกัน คำสั่งทั้ง 2 ฉบับได้ไปเปลี่ยนหลักการกฎหมายเดิมซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล และยังขัดกต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 44

 

  
“สิ่งที่เครือข่ายได้ดำเนินการยืนอยู่บนหลักการมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักการระหว่างประเทศ ดังนั้น สิทธิเสรีภาพของเราในการเรียกร้องยังคงอยู่” นายประสิทธิชัย กล่าว
      
      
ด้านนายสมนึก จงมีวศิน ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า เครือข่ายมีเจตนารมณ์ในการปกป้องฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับได้ไปยกเลิกกฎหมายผังเมืองเดิมที่กำหนดเขตการพัฒนา ซึ่งการเรียกร้องของเครือข่ายเป็นสิทธิในการขอให้นำกฎหมายที่ชอบธรรมกลับมาใช้
      
      
ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่า การออกคำสั่งห้ามชุมนุมของ สน.นางเลิ้ง เป็นความผิดพลาด เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะกำหนดให้สถานีตำรวจมีหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งในการขออนุญาตการชุมนุม แต่ไม่ใช่ผู้อนุญาต ดังนั้น สถานีตำรวจควรออกเพียงใบรับแจ้งเท่านั้น และอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุม และทำการวินิจฉัยการขออนุญาตชุมนุมใหม่
      

 

 

"เครือข่ายประชาชน" จี้ตำรวจ ไม่มีสิทธิห้ามชุมนุมค้านม.44 เรื่องผังเมือง...แค่คนรับแจ้ง
      

ทั้งนี้ เครือข่ายได้เริ่มชุมนุมหน้าอาคารสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งที่ 3/2559 และ 4/2559 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ
      
      

ขณะที่นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ ได้โพสต์ในเฟชบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า


"แล้วจะมีกรมโยธาธิการและผังเมืองไปทำไม ? ผมจำได้ว่า “กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ใช้เวลาร่วม 2 ปี เพื่อระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ของกรมฯ และงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศจำนวนมหาศาล เพื่อจัดทำผังเมืองจังหวัด ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะทั่วทั้งประเทศ โดยจัดเวทีทั้งเล็ก และใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ออกแบบที่ตั้งผังเมืองของตนเองอย่างเข้มข้น
        

 

“บรรยากาศแห่งการระดมความเห็นอย่างอิสระภายใต้ความต้องการที่แท้จริง เพื่อความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง บนพื้นฐานความคิดของกลุ่มคนที่หลากหลายแตกต่างกันในจังหวัดนั้นๆ สุดท้ายก็ได้บทสรุปที่คนในพื้นที่ต่างยอมรับว่า ผังเมืองที่ควรจะเป็นในท้องถิ่นของตนเองควรเป็นอย่างไร เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็มีการประกาศบังคับใช้ไปบ้างแล้ว บ้างก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อรอการประกาศต่อไป นี่คือห้วงเวลาที่ผม และประชาชนทั่วไปต่างได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องผังเมืองอย่างดีที่สุด จนนำไปสู่การออกแบบอย่างที่เป็นในปัจจุบัน”
      
      
กระบวนการนี้ได้ทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตรงไหนควรเป็นสีเขียว พื้นที่ตรงไหนควรเป็นสีชมพู และพื้นที่ตรงไหนควรเป็นสีม่วง และพื้นที่ตรงไหนควรจะเป็นสีใด เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างไร ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องผังเมืองได้อย่างดีที่สุด แม้จะไม่ดีที่สุดในบางพื้นที่ ในบางจังหวัด แต่นั่นก็เกิดขึ้นจากการยอมรับร่วมกันแล้วของคนในพื้นที่นั้นๆ
      
      

จนเมื่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 3 และฉบับที่ 4 /2559 เพียงอ้างว่า เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการลงทุน และการทำกิจกรรมในบางโครงการ นี่จึงเป็นเสมือนการล้มกระดานที่ใช้เวลาร่วม 2 ปี กับงบประมาณจำนวนมาก และที่สำคัญคือ การไม่เคารพต่อกระบวนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากประชาชนในประเทศนี้ต่อการออกแบบการใช้พื้นที่ของท้องถิ่นตนเองอย่างร้ายกาจที่สุด
      
      

เรื่องนี้อาจจะทำความเข้าใจต่อสังคมได้ยาก แต่ความเลวร้ายจากคำสั่งนี้ได้ทำให้ผมและเพื่อนมิตรจำนวนไม่น้อยได้คำตอบว่า การใช้อำนาจแบบพร่ำเพรื่อของผู้นำประเทศแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ สักจะใช้ก็ใช้ไปในทุกๆ เรื่องเพียงเพื่อความสะดวก มักง่าย หรือจะมีอื่นใดแอบแฝงก็ตามแต่..จึงเป็นเหตุผลให้ความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานราชการ กระทรวง กรม กอง ไม่ต้องมีอีกต่อไป และต่อกรณีนี้เราจึงเห็นว่าต้องยุบ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” ทิ้งไปเสียด้วยเหตุผลประการทั้งปวง

 

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก "เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"