"สมาคมต้านโลกร้อน" ค้านคำสั่ง คสช. "ให้เดินโครงการ ขณะ"อีไอเอ" ยังไม่ผ่าน"

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

นายกสมาคมต้านโลกร้อน แถลงคัดค้านคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 เปิดช่องให้เจ้าของโครงการเสนอ ครม.เดินหน้าโครงการฯ ขณะ"อีไอเอ" ยังไม่ผ่าน ชี้ทำลายหลักการป้องกัน แถมเอื้อกลุ่มทุน ขณะเครือข่ายคนสงขลาฯ ระบุ อาจโยนหินดูปฏิกิริยาสังคม
      

 

วันนี้ (9 มี.ค.) มีรายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน STOP GLOBAL WARMING ASSOCIATION เรื่องคัดค้านคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ที่เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐ เจ้าของโครงการสามารถเสนอ ครม.เดินหน้าโครงการฯ ได้ ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หนือ "อีไอเอ" ยังไม่ผ่าน ชี้เพราะเป็นคำสั่งที่ทำลายหลักการป้องกันล่วงหน้า แถมเอื้อกลุ่มทุน 
      


โดยระบุรายละเอียดคือ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการหรือกิจการของรัฐในการจัดให้มีสาธารณูปโภคอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะสามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย โดยในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้นั้น
      
      

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอคัดการการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็น อันขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 4 และ 5 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 โดยชัดแจ้ง เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ แต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความขัดแย้งและแตกความสามัคคีของประชาชนในชาติ เพราะจะทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศออกมาคัดค้านกันอย่างมากมาย รวมทั้งเป็นการทำลาย “หลักการ” ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง ที่มุ่งเน้น “หลักการป้องกันไว้ล่วงหน้า” หรือ Precautionary Principle โดยการกำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (36+11 ประเภท) จะต้องจัดทำ EIA/EHIA เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเสียก่อนเท่านั้น
      
      

คำสั่ง คสช.ที่บัญญัติว่า “ระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้นั้น” จึงเป็นการทำลายหลักการหรือเจตนารมณ์ที่สำคัญของกฎหมายแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์หรือคืนความสุขให้กลุ่มทุนเท่านั้น และจะเป็นการบีบบังคับการทำหน้าที่ของ คชก.ให้จำต้องให้ความเห็นชอบรายงาน EIA/EHIA ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปก่อนล่วงหน้าแล้วเท่านั้น
      
      

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงใคร่ขอเรียกร้องมายังหัวหน้า คสช. ได้โปรดทบทวนการออกคำสั่งที่เกินความจำเป็นดังกล่าวเสีย และหาก คสช.ยังเดินหน้าต่อคำสั่งนี้สมาคมฯและเครือข่ายจะนำความนี้ขึ้นร้องเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดและหรือศาลรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา 5 ประกอบมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อไป
      
      

ขณะที่เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่ืวคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบโครงการหรือกิจการที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปพลางก่อนได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการ
      
      

โดยคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ได้บัญญัติข้อความเพิ่มเป็นวรรค 4 ของมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้
      
      
 ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาถ่านหิน กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวสะท้อนว่า คสช.กำลังตกอยู่ในอำนาจของทุนอุตสาหกรรม และคล้ายกับการลองของว่าจะมีปฏิกิริยาจากสังคมอย่างไรบ้าง โดยคำสั่งดังกล่าวส่งสัญญาณว่าไม่ว่าอีไอเอจะผ่านหรือไม่ก็ยินดีอนุมัติ และหากไม่มีการคัดค้านคำสั่งนี้ ในอนาคตอาจมีการออกคำสั่งให้ไม่ต้องทำอีไอเอเลยก็ได้

 

ภาพ : สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน