ก.วิทย์ฯโต้โผจัดStartup Thailand 2016 หวังไทยเป็นฮับสตาร์ทอัพอาเซียน

ติดตามข่าวสารเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ 12 หน่วยงานจัดงาน Startup Thailand 2016  ระดมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพพบปะ-แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ คาดหวังพัฒนาก้าวสู่ฮับสตาร์ทอัพอาเซียน


วันนี้ (10 มี.ค.)   ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ร่วมกับ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบไปด้วย  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เครือข่ายประชารัฐ และประชาคมสตาร์ทอัพไทย รวมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน จัดงาน Startup Thailand 2016 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 –1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


ดร.พิเชฐ  กล่าวว่า  สืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีมติมอบหมายให้กระทรวงวิทย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการ National Campaign  เรื่อง Startup Thailand  เพื่อเป็นการระดมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของประเทศให้มารวมตัวกัน  จึงนำมาสู่ความร่วมมือของทั้ง 12 หน่วยงานในครั้งนี้   ซึ่งการจัดงานครั้งนี้  มีเป้าหมายเพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม  ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด


ดร.พิเชฐ  กล่าวต่อว่า  การจัดงานครั้งนี้ จะระดมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของประเทศให้มารวมตัวกัน เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ  รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน  ตลอดจนสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในวงกว้างในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะ นักเรียน นักศึกษา นักเรียนอาชีวะ ผู้ที่จบการศึกษาและทำงานมาระยะหนึ่ง เกษตรกรยุคใหม่ ผู้บริหารองค์กร บริษัท หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีการบ่มเพาะ ให้บริการหรือมีกิจกรรมส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอันจะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นในประเทศไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

" ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับมาร่วมงานพร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ " วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วยสตาร์อัพไทยแลนด์ " และรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมาพูดถึงการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพในประเทศไทย "  ดร.พิเชฐ กล่าว 

 

ก.วิทย์ฯโต้โผจัดStartup Thailand 2016 หวังไทยเป็นฮับสตาร์ทอัพอาเซียน

นอกจากนี้  ยังเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาร่วมงานและปาฐกถาพิเศษ เช่น นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่สุดของประเทศจีน  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อ รวมทั้ง เชิญประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านสตาร์ทอัพมาร่วมงาน 10 ประเทศ รวมถึงการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากสตาร์ทอัพทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย รวมทั้งการนำเสนอของต่างประเทศ และนิทรรศการ Future of industries ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และเกิดแรงบันดาลใจสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้าและสร้างรายได้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาพื้นที่ในการเปิดเป็นย่านสตาร์ทอัพ (สตาร์ทอัพ ดิสตริค) เพื่อให้เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทย เบื้องต้นพิจารณาใน กทม. ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกมัย หรือย่านทองหล่อ พื้นที่หัวเมืองทั้ง จ.เชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์ จ.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในไทยมีสตาร์ทอัพประมาณ 1,000-2,000 บริษัท


รมว.วิทยาศาสตรฯ  กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  ท่านต้องการให้ปีนี้เป็นปีแห่งสตาร์ทอัพ และสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดไปเป็นฮับของอาเซียน  เนื่องจากเห็นช่องทางการเติบโตเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้ของประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มของฐานเศรษฐกิจใหม่ ขณะนี้มีเป้าหมายที่จะเปิดพื้นที่สตาร์ทอัพกลางกรุง ซึ่งกำลังดูทำเลย่านสยามสแคว์ เพื่อเป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดดี ๆ ได้มารวมตัวกันบริหารธุรกิจที่ทรงพลัง นำไปสู่ความสำเร็จเนื่องจากอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพเป็นช่องทางในการสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล ยกตัวอย่าง Grab ได้รับการระดมทุนจากทั่วโลกและเติบโตอย่างมากในตลาดอาเซียนซึ่งมี สตาร์ทอัพไทยหลายรายที่สามารถโตและขยายตลาดได้อย่างก้าวกระโดดในอาเซียน เช่น OokBee และ aCommerce เป็นต้น

 

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ กล่าวว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ดีคือ มีผู้ที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ หลายประเทศทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ประเทศไทยเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ และมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมากที่รอการสนับสนุน