"กพฉ." เคาะ 25 อาการวิกฤติผู้ป่วยฉุกเฉิน ยันห้ามเก็บเงินใน 72 ช.ม.แรก

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"บอร์ดกพฉ." เคาะ 25 อาการวิกฤติสีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ยันห้ามเก็บเงินใน 72 ช.ม.แรก จากนั้นส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ คาดได้ใช้ก่อนสงกรานต์นี้
      

      

วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ซึ่งมีผู้แทนทั้งจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้าร่วมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ ต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินฟรีในช่วง 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้น ให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิ ส่วนของการสำรองเตียงเพื่อรองรับการส่งต่อ ประกันสังคมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีโรงพยาบาลคู่สัญญา ส่วนระบบข้าราชการหากไม่สามารถส่งต่อได้ กรมบัญชีกลางจะมีงบประมาณสำหรับดูแล ส่วนสิทธิบัตรทอง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะพยายามแก้ปัญหาให้
      
      

นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นทุกฝ่ายโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เห็นด้วยต่ออัตราค่ารักษากลาง (Fee schedule) ซึ่งจากนี้ปลัด สธ. และเลขาธิการ สพฉ. จะมาร่วมกันพิจารณาอัตราอีกครั้งหนึ่ง สำหรับปัญหาที่ประชาชนถูกเรียกเก็บเงินก่อนรักษา รวมถึงการถูกบังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้ จากนี้ถ้าทุกคนตกลงกันได้ก็จะไม่มีปัญหา เพราะในการประชุมนี้ก็มีผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี หากยังพบว่ามีปัญหา สธ.ก็จะไปทำความเข้าใจต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์มีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันใช้ภายใน เม.ย.นี้ และจะพยายามเร่งให้เสร็จทันก่อนช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ให้ได้
      
      

“สำหรับนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ประชุมเห็นด้วยต่อหลักการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง 25 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3.สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6.หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม 11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด 14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19.เด็ก กุมารเวช 20.ถูกทำร้าย 21.ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24.อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25.อื่นๆ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สพฉ.จะเป็นหน่วยงานกลางคอยให้คำปรึกษา และให้ความเห็นภายใน 15 นาที” รมว.สธ. กล่าว