"ดาว์พงษ์" ยันผู้ปกครองอย่าห่วง รัฐไม่ทอดทิ้งเรื่องการศึกษา

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 


รมว.ศึกษาฯ เผยรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ทุกคนได้รับการศึกษา 12 ปี รวมทั้งมีกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ได้ละเลยระดับ ม.ปลาย หรืออาชีวศึกษา ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรกังวล

 

 

วานนี้ (21 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ ได้ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าว โดยระบุว่า ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 และได้เรียกร้องให้ รมว.ศึกษาธิการ ดำเนินการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามหลักสากลนั้น

 


โดยตนยอมรับว่า ในครั้งแรกที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 54 ก็คิดเช่นเดียวกับผู้ปกครอง ว่าถ้ากำหนดให้รัฐจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาล - มัธยมศึกษาตอนต้น เช่นนี้ เด็กในระดับ ม.ปลาย รวมถึงเด็กอาชีวศึกษา จะดูแลอย่างไร แต่เมื่ออ่านโดยละเอียด ก็พบว่าในวรรคสุดท้าย ได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการ หรือกลไกทางภาษี เท่ากับว่าถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการที่จะต้องดูแลเด็กที่ครอบครัวยากจน ขาดโอกาส และด้อยโอกาส

 

พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงให้รัฐจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาล - ม.ต้น แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุนการศึกษาในระดับ ม.ปลาย หรืออาชีวศึกษา แต่จะเน้นดูแลในกลุ่มเด็กที่ครอบครัวฐานะยากจน ด้อยโอกาส และขาดโอกาสทางการศึกษา ให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะฉะนั้น ยืนยันว่ารัฐจะไม่ทอดทิ้งเด็กเหล่านี้แน่นอนไม่ต้องกังวล แต่ครอบครัวที่มีฐานะก็ต้องจ่ายเอง ซึ่งระบบปัจจุบันที่ทำอยู่ คือ รัฐจัดสรรให้เด็กทุกคนไม่ว่ารวยหรือยากจน ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับรัฐ ที่น่าจะได้นำเงินมาดูแลคนยากจนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น

 


 

"เมื่อครั้งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญมาให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจในครั้งแรกนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้อ่านแล้วก็เกรงว่าจะมีปัญหา จึงได้ทำข้อเสนอกลับไปยัง กรธ.โดยให้เหตุผลว่าแม้จะให้มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษา แต่ก็กังวลว่าการบริหารจัดการอาจจะทำได้ลำบาก หรืออาจจะเกิดปัญหาหรือไม่ แต่คาดว่า กรธ.คงพิจารณาแล้วว่าทำได้ และได้กำหนดในวรรคสุดท้ายว่า ให้จัดทำกองทุนโดยใช้เงินภาษี ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าต่อไปก็ต้องจัดทำกองทุนขึ้นมามีระบบเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่รอการบริจาค แม้ขณะนี้จะยังไม่รู้ว่าจะใช้เงินภาษีส่วนใด แต่แน่นอนว่า รัฐจะต้องเร่งทำแต่ หากยังทำไม่ทันก็สามารถจัดสรรเงินต่อได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐจะไม่ทอดทิ้งเด็กยากจนแน่นอน" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวส่งท้ายว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองอ้างว่าขัดต่อหลักสิทธิมุษยชนนั้นคงไม่ผิด การจะอ้างหลักสิทธิมนุษยชนใดนั้นต้องดูเงินในกระเป๋า และดูภาระของรัฐบาล จึงขอฝากไปถึงผู้ปกครองทุกคนว่าไม่มีรัฐบาลใด หรือกระทั่งพรรคการเมืองจะทอดทิ้งเด็กที่ยากจน และอย่ามองว่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการเรียกเก็บเงินที่สูงขึ้น เพราะขนาดทุกวันนี้มีโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ก็ยังพบว่ามีการหาช่องทางเรียกเก็บเงิน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องการลงทุนงบประมาณเพื่อพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนมากขึ้น เพราะในหลักวิชาการจะเห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่ถูกใจ 100% แต่ก็ขอให้ดูภาพรวม หากจะดูเฉพาะเรื่องแล้วปฏิเสธ ตนก็ไม่เห็นด้วย