ยกเครื่องใหม่!!! TOT แตกงานเป็น 5 กลุ่ม แก้ขาดทุนหนักเริ่ม 1 ก.ค.นี้

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnews.co.th

 

ยกเครื่องใหม่!!! TOT แตกงานเป็น 5 กลุ่ม แก้ปัญหาขาดทุนเริ่ม 1 ก.ค.นี้  ขณะแหล่งข่าวผู้หนึ่งอ้างอาจปลดพนักงานนับ 1,000 หากข้อตกลงกับ AIS ในสัญญาทดสอบฯ ถูกยกเลิก แต่ไม่พูดถึงคดีแก้สัญญาสัปทานในอดีตที่มิชอบ และคดีดังกล่าวยังตามหลอกหลอนผู้เกี่ยวข้องไม่เลิก

 

 

วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.ค. 2559 ทีโอทีจะใช้โครงสร้างการบริหารงานใหม่ ตามที่ คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ (บียู) ประกอบด้วย

 

1.ธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ (ฟิกซ์ไลน์) และอินเตอร์เนตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 2.ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตัคเจอร์) โดยประกอบด้วยท่อร้อยสาย, อินเตอร์เนตเกตเวย์ระหว่างประเทศ, โครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (ซับมารีน เคเบิ้ล), โครงข่ายหลัก (คอร์ เน็ตเวิร์ก), อาคารและที่ดิน 3.ธุรกิจสื่อสารไร้สาย 4.ธุรกิจไอดีซี และคลาวด์ และ 5.บริการงานขายลูกค้าองค์กร โดยภายในสัปดาห์หน้าจะมีลงนามแต่งตั้ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เพื่อรับผิดชอบในแต่ละสายงาน


 

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้ปรับโครงสร้าง ไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2559 ขณะที่พนักงานของทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ยังมีคำถามว่าโครงสร้างตามคำสั่งคนร. จะสามารถใช้งานได้จริงกับองค์กรทีโอทีหรือไม่ เพราะการแบ่งกลุ่มธุรกิจที่ยังมีธุรกิจสื่อสารไร้สายซึ่งในปัจจุบันไม่ได้สร้างรายได้ให้แก่ทีโอที นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจไอดีซีและคลาวด์ก็เหมือนตั้งขึ้นมาให้ครบตามหน่วยธุรกิจที่คนร.กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีการกำหนดรายละเอียดของการทำงานแต่อย่างใด


กรรมการผู้จัดการใหญ่ยืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างการทำงานหลายครั้ง ซึ่งก็ยังไม่ค่อยลงตัว แต่ครั้งนี้ส่วนตัวผมเชื่อว่าการปรับโครงสร้างเป็นในรูปแบบดังกล่าว น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะสามารถมีการบริหารงานได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว


 


 

 

 

นายมนต์ชัยกล่าวว่า ในครึ่งปีหลังนี้ ทีโอที จะโฟกัสในกลุ่มธุรกิจฟิกซ์ไลน์ และบรอดแบนด์ให้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันราว 70% ในฐานของผลประกอบการรวมที่ ทีโอที ดำเนินธุรกิจเอง ทั้งนี้ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจฟิกซ์ไลน์มีผู้ใช้งานโทรศัพท์บ้านอยู่ 3 ล้านเลขหมาย คิดเป็นรายได้ให้ทีโอทีปีละ 7,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์มีรายได้ 13,000 ล้านบาท จากฐานลูกค้า 1.2 ล้านราย โดยสิ้นปีตั้งเป้าหมายจะเพิ่มลูกค้าใหม่ (Net Adds) จำนวน 170,000 ราย

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากทีโอทีรายหนึ่ง ให้ข่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดทีโอที นัดพิเศษเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเปลี่ยนแปลงมติเดิมเมื่อ 9 มิ.ย.59 ที่อนุมัติให้ทีโอทีลงนามในสัญญาทดสอบฯ กับบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวิร์ค (AWN ) ในการให้บริการ 3 จี 2100 โดยแหล่งข่าวอ้างว่า บอร์ดขอให้ฝ่ายบริหารระงับการลงนามในข้อตกลงไว้ก่อน เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนว่าการดำเนินการดังกล่าว เข้าข่ายการดึงเอกชนร่วมดำเนินธุรกิจตามนโยบาย PPP หรือไม่
เพราะในอดีตนั้น กรณีลักษณะนี้ และค่ายสื่อสารที่อยู่ในตระกูลของอดีตนายกฯ ผู้อื้อฉาว เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูล และส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีแก้สัญญาสัปทานมิชอบมาแล้ว นั่นเป็นเหตุให้ทุกอย่างอาจเดินไปแบบต้องระมัดระวัง...ไม่ให้ซ้ำรอยกับเรื่องอื้อฉาวในอดีต...ที่ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซง TOT จนพินาศมาแล้วเช่นในอดีต