ยกทัพเภสัชกรไทย จัดงานใหญ่ระดับนานาชาติ  ขนสมุนไพรไทยอวดชาวโลก

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 26 ก.ย.)  ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย  นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวว่า  เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมจัดการประชุม FAPA 2016  ( The 26th Federation of Asian Pharmaceutical Associations Congress ) หรือ การประชุมสหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย เป็นการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ที่มีเภสัชกรจากทั่วภูมิภาคเอเซียกว่า 20 ประเทศ จำนวนกว่า 1,500 คน เข้าร่วมงานในวันที่ 9-13  พฤศจิกายน 2559 ณ  ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


ดร.สินธุ์ชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 นับเป็นประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FAPA บ่อยครั้งที่สุดในโลก  สำหรับหัวข้อการประชุมในครั้งนี้คือ  “ Integrating Asian Pharmacy Wisdom for Better Global Health ” หรือ “บูรณาการภูมิปัญญาเภสัชกรรมแห่งเอเชีย เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าในสากล”  โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ร่วมกับทุกภาคส่วน ชูธงสมุนไพรไทยภูมิปัญญาไทย ว่าเป็นทางรอดของมนุษยชาติ โหมกระตุ้นเภสัชกรจับมือกันผลักดัน และปลุกพลังแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ย้ำชัด เภสัชกรไทยก้าวไกลและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

 

ยกทัพเภสัชกรไทย จัดงานใหญ่ระดับนานาชาติ  ขนสมุนไพรไทยอวดชาวโลก


ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร  รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า เภสัชกรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมระหว่างองค์ความรู้ดั้งเดิมในสังคมเอเชีย กับความรู้ด้านยาสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องสารเคมีเป็นหลัก โดยที่ในปัจจุบันการใช้ยาจากสารเคมีมีข้อจำกัดมากขึ้น การหันมาใช้ประโยชน์จากสมุนไพรจะช่วยลดทางตันที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี  มองว่าเภสัชกรมีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาด้านยาหลายด้าน เช่น การหาหนทางเพื่อต่อสู้กับเรื่องเชื้อโรคดื้อยา ความเสื่อมจากมลภาวะต่าง ๆ และความเครียด ตลอดจนถึงการคิดค้นยาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ รวมถึงการใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นต้น


ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมองค์ความรู้ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา  ตนได้เห็นศักยภาพของสมุนไพรหลายชนิดที่เป็นความหวัง ในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและการเจ็บป่วยที่นำมาสู่โรคเรื้อรัง เช่น ต้นกระดูกไก่ดำ มีสรรพคุณในการแก้อักเสบ แก้ปวด มีการออกฤทธิ์แก้อักเสบ เหมือนยากลุ่มต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกว่ายากลุ่ม NSAIDs  ฟ้าทะลายโจร มีประโยชน์อย่างสำคัญในการต่อสู้กับโรคหวัด รวมถึงมีสรรพคุณกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน แก้ไข ลดการอักเสบ ผักเบี้ยใหญ่ เป็นสมุนไพรที่มีจุดเด่นในการใช้กับเรื่องผิวหนัง มีผู้นำไปจดสิทธิบัตรเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากที่สุดทั่วโลก แต่เมืองไทยกลับไม่เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกเป็นจำนวนมากที่รอการค้นคว้าวิจัย และประเทศไทยอยู่ในภูมินิเวศน์ที่ดีมีความหลากหลายทางพันธุ์พืชมากกว่า 5,000 ชนิด หากเราสามารถนำภูมิปัญญาดั้งเดิมและทรัพย์แผ่นดินที่มีอยู่มาศึกษาและต่อยอด จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคนไทยและมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการประชุมFAPA2016 ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเข้าร่วมประชุมเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับสมุนไพร นำเสนอเรื่องการผลักดันเภสัชกรสมุนไพร ให้เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนรู้แก่ต่างชาติ พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรอภัยภูเบศรเข้าร่วมแสดงในงานด้วย

 

ยกทัพเภสัชกรไทย จัดงานใหญ่ระดับนานาชาติ  ขนสมุนไพรไทยอวดชาวโลก


ขณะนี้ มีการค้นพบว่า สมุนไพรไทยบางชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร มีสารสำคัญที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัส ในโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะ คล้ายโรคไข้เลือดออก  ซึ่งโรคชิคุนกุนยานี้ ขณะนี้ยังไม่มียา หรือวัคซีน ที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคติดเชื้อ โดยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดและรักษาตามอาการแบบประคับประคองเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยพบมีการระบาดของโรคนี้ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศหลายครั้ง มีผลงานวิจัยของเภสัชกรนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลายประเทศ ยืนยันว่า  ฟ้าทะลายโจร มีสาร Andrographolideที่สามารถช่วยยับยั้งการติดเชื้อไวรัสของโรคชิคุนกุนยาได้อย่างมีนัยสำคัญ มีการทดลองพบว่า มีผลป้องกันไม่ให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสสมควรที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคชิคุนกุนยา หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ต่อไปในอนาคต


นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยเราจะได้อวดของดีที่เรามีภูมิปัญญา และศักยภาพของวิชาชีพเภสัชกรรมสู่สายตาชาวโลก ขอเชิญชวนเภสัชกรไทย และคนไทยทุกคน ร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับเภสัชกรจากหลากหลายประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปลุกพลังเภสัชกรไทยเป็นหนึ่งเดียวเพื่อคนไทยทุกคน  และเพื่อการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวิชาชีพเภสัชกรรมไทยและประเทศไทยของเราอีกด้วย ดร.สุภาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย