"คปพ."ยื่นหนังสือ"คตง."ตามทวงคืนทรัพย์สิน3.2หมื่นล.จากปตท.หลังแจ้งครม.ทราบแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ พร้อมเอาผิดคนเพิกเฉย

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 29 พ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(ด้านพลังงาน) อดีตอดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และอดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้ทำหนังสือ ถึง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน และ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง การทวงคืนทรัพย์สินของรัฐจากการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีเนื้อความโดยละเอียดดังนี้
      
        
“ตามที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนอื่นได้ร่วมกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ได้มีการว่ากล่าวกันเอง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๐๐/๒๕๕๗ ในกรณีที่การแปรรูปของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นรายงานการคืนทรัพย์สินต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น ไม่ได้ส่งรายงานการโต้แย้งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่เห็นว่า การคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการตีความก็ไม่ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจึงเป็นการยื่นรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ดำเนินการตรวจสอบว่าหน่วยงานที่รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ว่าได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในการแบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
      
        
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนายพิศิษฐ์ ลีลาวิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แถลงข่าวแจ้งมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔, ๔๖, และ ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ สรุปความได้ว่าขอให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่ามากกว่า ๓๒,๐๐๐ ล้านบาทกลับคืนแก่กระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้ครบถ้วนต่อไปภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และมีมติเห็นชอบ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิดต่อไป
      
        
ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานรับตรวจจึงมีหน้าที่ในการแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้ทราบภายใน ๖๐ วัน ตามที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา ๔๔ วรรคแรกแห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นวันสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งผลการดำเนินงานดังกล่าวภายใน ๖๐ วัน คือต้องแจ้งผลการดำเนินงานภายในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
      
        
เมื่อวันนี้เป็นวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ อันเป็นเวลานานกว่า ๙๐ วันแล้ว นับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต่อคณะรัฐมนตรี อันเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยนานกว่า ๖๐ วัน ตามที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา ๔๔ แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมิได้ปรากฏความชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินให้แล้วเสร็จตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่อย่างใด
      
        
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดในการรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอร้องเรียนต่อท่านประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ดำเนินการดังต่อไปนี้
      
      
๑. ขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินติดตามผลการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีในการทวงคืนทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งมีมูลค่ามากกว่า ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท ให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ และเนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ตามที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา ๔๔ แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการและดำเนินคดีความต่อบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา ๑๗, ๖๓ และ ๖๔ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ และพระราชบัญญัติความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ต่อไป

"คปพ."ยื่นหนังสือ"คตง."ตามทวงคืนทรัพย์สิน3.2หมื่นล.จากปตท.หลังแจ้งครม.ทราบแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ พร้อมเอาผิดคนเพิกเฉย

 

๒. กรณีที่ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษาเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ กรณีการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและการนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งได้ดำเนินการฟ้องร้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฯลฯ รวมผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน ๑๑ ราย ต่อศาลปกครองกลางแล้วเพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งนี้มติผู้ตรวจการแผ่นดินได้ระบุเอาไว้ว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๖๘,๕๖๙ ล้านบาท แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้คืนไปแล้ว ๑๖,๑๗๕ ล้านบาท ดังนั้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องโอนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังอีกจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๒,๓๙๓ ล้านบาท และยังต้องรวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่นและสิทธิ์หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบต่อไปอีกด้วย

 

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังมีตัวเลขในการทวงคืนทรัพย์สินของรัฐให้กลับคืนมาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นยังไม่เท่ากัน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าต้องคืนทรัพย์สินกลับคืนมาอีกไม่ต่ำกว่า ๕๒,๓๙๓ ล้านบาท ในขณะที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าต้องคืนทรัพย์สินคืนมาประมาณ ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท ดังนั้น มติผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ายังมีทรัพย์สินที่ต้องนำคืนกลับมามากกว่ามติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระบุเอาไว้อีกถึงกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
      
      
จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบ ตรวจทาน ประสานงานกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามทรัพย์สินส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้แถลงข่าวเอาไว้เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โอนคืนทรัพย์สินที่ควรตกเป็นของรัฐกลับคืนมาให้ครบถ้วนต่อไป
      
      
๓. เนื่องจากท่อก๊าซที่ได้กลับคืนมาก่อนหน้านี้ได้มีการทำสัญญาให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เช่า ซึ่งปรากฏต่อมาว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวไปแสวงหาผลประโยชน์ในรูปของค่าผ่านท่อของการใช้ก๊าซธรรมชาติทุกประเภท ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ไฟฟ้า และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะต้องมีต้นทุนค่าผ่านท่อในการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เป็นผลประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
      
      
ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ กรมธนารักษ์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ได้ลงนามสัญญาให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เช่าท่อก๊าซธรรมชาติ เป็นเวลา ๓๐ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๘๐ ทั้งนี้ขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบว่าภายหลังจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนท่อก๊าซแก่กรมธนารักษ์นั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชำระค่าเช่าท่อย้อนหลังให้กรมธนารักษ์ระหว่าง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑,๓๓๐ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จำนวนเงินอีก ๒๖๖ ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ ๑,๕๙๖ ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเงินค่าเช่าท่อก๊าซจากเอกชนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้นสูงถึง ๑๓๗,๑๗๖ ล้านบาทนั้น

"คปพ."ยื่นหนังสือ"คตง."ตามทวงคืนทรัพย์สิน3.2หมื่นล.จากปตท.หลังแจ้งครม.ทราบแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ พร้อมเอาผิดคนเพิกเฉย

 

การกำหนดสัญญาจากค่าเช่าระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ กรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยที่ทราบรายได้จากค่าผ่านท่อของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว เป็นการได้ประโยชน์โดยสุจริตโปร่งใสหรือไม่ เพราะในขณะนั้นเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเงินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เงินค่าเช่าท่อจากเอกชนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาแล้วสูงกว่าที่จะจ่ายเงินให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันถึง ๑๓๕,๕๘๐ ล้านบาท หมายความว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำท่อก๊าซที่ได้เช่ามานั้นไปสร้างรายได้มากกว่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ถึง ๘๕ เท่าตัว หรือคิดเป็นการทำกำไรส่วนต่างสูงถึง ๘,๔๙๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินต้นทุนค่าเช่าท่อที่จ่ายให้กับกรมธนารักษ์เพียง ๑,๕๙๖ ล้านบาทเท่านั้น จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบว่าเงินส่วนต่างค่าเช่าท่อระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ จำนวน ๑๓๕,๕๘๐ ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันควรจะเป็นเงินที่ตกเป็นของกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังหรือไม่
      
      
ในขณะเดียวกันการที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ลงนามในสัญญาเช่าท่อก๊าซธรรมชาติให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น ได้ระบุค่าเช่าเพียงเฉลี่ยปีละ ๔๐๐ ล้านบาท แต่ไม่เกินปีละ ๕๕๐ ล้านบาท ในขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากค่าผ่านท่อปีละ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำท่อที่มีการแปรรูปเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งตัดค่าเสื่อมหมดแล้ว แต่อายุการใช้งานของท่อก๊าซดังกล่าวพบว่ามีอายุใช้งานได้มากกว่าที่เคยประเมินไว้จาก ๒๕ ปีเป็น ๔๐ ปี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงให้ ๒ บริษัทประเมินมูลค่าท่อใหม่ และได้มูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่าง ๑๐๕,๐๐๐ – ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงนำไปขอปรับขึ้นราคาค่าผ่านท่อ และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับรู้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นประมาณ ๑ แสนล้านบาท จึงอนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่อได้อีกหน่วยละประมาณ ๒ บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาทภายในปีเดียว จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาว่าสัญญาค่าเช่า ระหว่าง กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ลงนามในสัญญาเช่าท่อก๊าซธรรมชาติให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้นเป็นราคาที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่
      
      
นอกจากนั้นขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบวิธีการลงบัญชีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการลงบัญชีทรัพย์สินที่จากเดิมเป็นท่อก๊าซธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ถาวรในกลุ่มที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตน แต่เมื่อศาลตัดสินแล้วกลับใช้วิธีเพียงย้ายทรัพย์สินในมูลค่าเต็มจำนวนเท่ากันให้เป็นสิทธิการเช่า หรือสิทธิการใช้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนลงในบัญชีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะนอกจากมูลค่าทรัพย์สินเต็มจำนวนทั้งหมดเหล่านั้นจะไม่ใช่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็จ่ายค่าเช่าเป็นรายปีโดยไม่ได้มีการจ่ายเงินเพื่อขอสิทธิการเช่าทั้งหมดเหมือนกับการเซ้งอีกด้วย
      
      
๔. ขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่าสมควรหรือไม่ที่ทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีเจ้าภาพในการถือครองกรรมสิทธิ์และบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเปิดการแข่งขันเพื่อให้เกิดการซ่อมบำรุงและบริหารจัดการท่อก๊าซและประโยชน์อื่นๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนจะต้องเตรียมตัวในการรองรับทรัพย์สินเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่กำลังจะทยอยหมดอายุสัมปทานลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป จึงขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาให้คำแนะนำต่อรัฐบาลในการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติในภายหลัง เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เพื่อให้มีเจ้าภาพในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดในการดูแลทรัพย์สินในส่วนดังกล่าว
      
      
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

"คปพ."ยื่นหนังสือ"คตง."ตามทวงคืนทรัพย์สิน3.2หมื่นล.จากปตท.หลังแจ้งครม.ทราบแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ พร้อมเอาผิดคนเพิกเฉย