ร้อนฉ่า!! สั่งล้างบางสหกรณ์ทั่งปท.เหตุมีขบวนการกิน"ปุ๋ยผี" จ่อฟ้องกราวรูดขรก.-เอกชน ทั้งแพ่ง-อาญา หลังปล่อยคาราคาซังมานาน

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 2 ธ.ค.)  นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามแก้ไขปัญหากรณีการเวียนตั๋วปุ๋ยผีขายให้กับสหกรณ์การเกษตรว่า เมื่อวานนี้ ( 1 ธ.ค.)  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการว่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ให้สหกรณ์การเกษตรทุกแห่ง ติดตามทวงปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดที่ยังบริษัทเอกชนยังไม่ได้ส่งให้อีกกว่า 60,000 ตัน  หลังจากจ่ายเงินล่วงหน้าให้ไปแล้ว 666 ล้านบาท ถ้าไม่มีการส่งปุ๋ย จะฟ้องร้องดำเนินคดีและให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด

 

"ผมได้สั่งไปถึงสหกรณ์จังหวัดในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สหกรณ์แต่ละจังหวัดเร่งรัดบริษัทส่งมอบปุ๋ยทันที  ถ้าส่งมอบไม่ได้ก็ให้ขอเงินคืน หากไม่ได้ ก็ฟ้องร้องทางแพ่งทันทีเพราะบริษัทได้รับเงินไปหมดแล้ว รวมทั้งสหกรณ์ยังสั่งปุ๋ยมาเกินความต้องการของสมาชิก สุดท้ายต้องไล่ฟ้องดำเนินคดีทั้งหมด เพราะเป็นเครือข่ายเดียวกันเข้ามาหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของเกษตรกร" นายพิเชษฐ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวอีกว่า สำหรับความผิดทางอาญา กำลังสอบสวนอยู่โดยไปดูการกระทำของกรรมการสหกรณ์การเกษตรชุดเดิมที่ยังเหลืออยู่ จะต้องสอบว่า ทำตามมติที่ประชุมหรือไม่  ถ้ามีการยกเว้นจะเหมือนกรณี สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่นที่ประธานไปทำเองทั้งหมด โดยไม่ขอมติที่ประชุมทำโดยไม่มีอำนาจก็จะโดนคดีอาญาด้วย


ส่วนกรณีปัญหาสหกรณ์หลายแห่งนำสารฟื้นฟูปรับสภาพดินมาขายให้สมาชิก  โดยทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปุ๋ยนั้น กำลังสำรวจสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศว่า  ได้สั่งซื้อสารดังกล่าวไปจำนวนเท่าไหร่  และยังมีของเหลือค้างสต็อกอยู่กี่แห่ง  โดยขณะนี้พบใน จ.ขอนแก่น 20 สหกรณ์ ได้สั่งซื้อสารมาไว้แล้วแต่สมาชิกไม่ต้องการ  จึงเหลือค้างสหกรณ์จำนวนมาก  ซึ่งการสำรวจภาพใหญ่ของความเสียหายทั้งหมด จะมีคำตอบภายใน 1 สัปดาห์

"ปัญหานี้  เป็นผลจากการไม่สำรวจความต้องการล่วงหน้า  ทำให้สารดังกล่าวตกค้างในสหกรณ์แต่ละแห่งมา 2-3 ปี  ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์การเกษตรในภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งล่าสุดได้ทำหนังสือให้ กรมวิชาการเกษตร เข้าไปตรวจสอบสารฟื้นฟูดิน  เพราะขบวนการผลิตเหมือนปุ๋ย  อาศัยช่องว่างกฎหมาย ไม่ขึ้นทะเบียนปุ๋ย แต่ไปขายทำให้คนหลงเชือว่า  เป็นปุ๋ยรวมทั้งสหกรณ์ร้อยเอ็ดได้ส่งตัวอย่างสารตรวจแล็ปของกรมวิชาการเกษตรแล้ว" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ย้ำ


รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งปี 2553 กล่าวคือทางสหกรณ์ได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนในการผลิตปุ๋ยเพื่อส่งมอบให้กับสกหกรณ์ โดยทางสหกรณ์ได้จ่ายเงินไปครบตามสัญญาแต่ปรากฏว่าของที่ได้รับมาไม่ครบ และในสัญญาที่ทำไว้ไม่มีหลักประกันใดๆในการเอาผิดหากผู้ผลิตไม่ส่งของให้ตามสัญญา นอกจากนี้จำนวนในการสั่งผลิตยังมากกว่าความต้องการของสมาชิสหกรณ์ และยังรวมถึงราคาต่อหน่วยที่สูงเกินไป   อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ไม่มีใครเข้ามาจัดการแก้ปัญาหให้จบสิ้นไป  มีแต่ครั้งนี้ซึ่งรัฐบาลเอาจริง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกแาการหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน