พระเมธีธรรมาจารย์ ออกแถลงการณ์ ให้เครือข่ายคณะสงฆ์ยุติเจริญพระพุทธมนต์หลังปีใหม่

พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

 พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ จากการที่อาตมา องค์กรพุทธ พระสงฆ์ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แสดงออก คัดค้านไม่เห็นด้วยโดยความบริสุทธิ์ใจ จากการที่สมาชิกสนช.ได้เสนอแก้ไข "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในมาตราที่ 7" ความละเอียดทราบแล้วนั้น บัดนี้อาตมา องค์กรพุทธและพระสงฆ์ทั้งปวงขอยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับสมาชิกสนช. ที่ได้ดำเนินในครั้งนี้ แต่พวกเราขอยืนยันว่าพวกเราเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น จะต้องเป็นพระราชอำนาจ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไขในครั้งนี้ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็คงเป็นพระราชอำนาจ เช่นกันดังนั้นอาตมา องค์กรพุทธ และพระสงฆ์ทั้งปวงเพียงแต่ไม่เห็นด้วยในหลักการเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่ไม่คงที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเท่านั้นเอง ส่วนพระราชอำนาจนั้นต้องคงไว้เช่นเดิม ไม่มีใครจะก้าวล่วงได้

วันนี้ อาตมา องค์กรพุทธและพระสงฆ์ทั้งปวงจะไม่ไปยื่นหนังสือคัดค้านที่นายกรัฐมนตรีหรือประธาน สนช. แน่นอน เพราะไม่มีประโยชน์ใด ๆ และก็จะไม่จัดแถลงข่าวในเรื่องนี้ด้วย เพราะกฎหมายได้ผ่าน 3 วาระไปแล้ว ได้แต่แสดงความไม่เห็นด้วย เสียใจ และฝากไปถึงคณะสงฆ์เครือข่ายประเทศด้วยว่า ขอให้ยุติการออกมาร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์หลังปีใหม่แล้วนั้น และฝากเป็นข้อคิดสำหรับคณะสงฆ์ด้วยว่า วันข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร วันนี้ อาตมาพูด แถลงได้แต่เพียงเท่านี้ ท้ายนี้อาตมาขอย้ำว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเป็นพระราชอำนาจเท่านั้น

 

ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า หลังจากนี้พศ.จะนำผลการประชุมสนช.เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 7 รายงานให้มหาเถรสมาคมรับทราบ ที่สำคัญนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลพศ. จะเข้ากราบมหาเถรสมาคมในวันที่ 10 มกราคม 2560 นี้ด้วย ทั้งนี้การแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ได้แตะในมาตราอื่น แก้ไขเพียงมาตรา 7 เพียงมาตราเดียว ที่สำคัญเมื่อกฎหมายประกาศใช้เมื่อใด กระบวนการที่มส.ได้เสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ก็ถือว่าตกไป โดยจากนี้ มส. ไม่มีส่วนในการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็จะเป็นไปตามมาตรา 7 ที่สนช.ได้ดำเนินการแก้ไข 

 

อาจารย์สรณา อนุสรณ์ทรางกูร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า จากการศึกษามาตรา 7 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ตนเห็นว่า มาตราเดิมก่อนที่สนช.จะแก้ไขนั้น มีความรอบด้าน เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงสบายพระทัย ในการผ่านความเห็นชอบจากคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม(มส.)เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ซึ่งนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาวัดกับวังต่างอุปถัมภ์กันมาโดยตลอด ดังนั้น การพัฒนากฎหมายคณะสงฆ์ ฝ่ายอาณาจักรไม่ควรลืมฝ่ายพุทธจักร โดยที่ผ่านมาคณะสงฆ์จะมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นมาโดยตลอด ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองอย่าลืมเด็ดขาด

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ข้อมูลโดย เดลินิวส์ออนไลน์