สพฉ.เปิดสถิติ10อันดับนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่าน1669 ปี59 พบอุบัติเหตุยานยนต์ครองแชมป์

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th. สพฉ.เปิดสถิติ10อันดับนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่าน1669 ปี59 อุบัติเหตุยานยนต์ครองแชมป์

 

วันนี้ ( 3 ม.ค.)  นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ได้สรุปสถิติการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ตลอดปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 1,491,460 คน โดย 10 ลำดับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลผ่านสายด่วน 1669 มากที่สุดคือ 1. อุบัติเหตุยานยนต์ 387,009 คน 2. ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 298,446 คน 3. ปวดท้อง ปวดหลัง เชิงกรานและขาหนีบ 162,701 คน  4. พลัดตกหกล้มอุบัติเหตุเจ็บปวด 113,510 คน  5. หายใจลำบากติดขัด 109,405 คน  6. หมดสติไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 61,619 คน  7. การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดกับเด็กหรือกุมารเวช 60,402 คน  8. ชัก หรือมีสัญญานบอกเหตุของการชัก44,135 คน  9. ปวดศีรษะ ภาวะผิดปรกติทางตา หู จมูก และคอ 39,010 คน และ 10. เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ หรือมีปัญหาด้านหัวใจ 34,246 คน
         

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลในส่วนของลำดับแรกที่เป็นอุบัติเหตุจากยานยนต์นั้น  อยากให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ  ควรขับรถด้วยความไม่ประมาท มีสติ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ง่วงหรือเมาไม่ควรขับรถเพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติมากยิ่งขึ้นได้      

        

 

นอกจากการเกิดอุบัติจากยานยนต์แล้ว 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล  ยังเป็นอาการของการเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลายโรคโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง หรือ(STROKE) ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก จนส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีหลายปัจจัยทั้งที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ อาทิ อายุมากขึ้น หลอดเลือดสมองจะเสื่อมตามไปด้วย หรือเกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น คือ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ สูบบุหรี่เป็นประจำ  ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งโรคนี้จะสังเกตอาการได้ง่ายๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน  ดังนั้นผู้พบเห็นต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โทรสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันที  โดยต้องระลึกเสมอว่าการรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรีบส่งเข้ารักษาภายในเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือพิการลงได้
 

 

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ใน 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งผ่านสายด่วน 1669 นั้นยังมีอาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งแต่ละปีจะมีแนวโน้มผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคนี้ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้นเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว มีไขมัน หรือแคลเซียมไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลงพักทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยจะต้องส่งผู้ป่วยให้เข้าสู่กระบวนการรักษาภายใน 3 ชั่วโมงซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
         

" ผมอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเพื่อให้ปลอดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุกๆ โรค สำหรับปีใหม่นี้ใครที่ยังไม่ได้เริ่มในการดูแลตนเองก็ใช้โอกาสของการเริ่มต้นปีใหม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี  ขับรถหรือเดินทางด้วยสติไม่ประมาทและหากท่านเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 พวกเราพร้อมดูแลประชาชนทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง "  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว

 


วิทย์ ณ เมธา   สำนักข่าวทีนิวส์