ชิงอำนาจถวายแด่ ร.7 "กบฏนายสิบ" สละชีวิตเพื่อราชบัลลังก์!! รวมตัวก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากคณะราษฎร !!??

ชิงอำนาจถวายแด่ ร.7 "กบฏนายสิบ" สละชีวิตเพื่อราชบัลลังก์!! รวมตัวก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากคณะราษฎร !!??

เหตุการณ์ “กบฏนายสิบ”ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปประทับยังประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ประชาราษฎร์จำนวนไม่น้อย หลายกลุ่มที่จงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์ โกรธแค้นคณะราษฎรที่ยึดอำนาจและสร้างความบีบคั้นสะเทือนพระราชหฤทัยจนต้องสละราชสมบัติ อันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้จงรักภักดีอย่างยิ่ง แม้ก่อนหน้านี้ ได้เกิด “กบฏบวรเดช” ที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร จนต้องปราบกันแบบเลือดนองแผ่นดินมาแล้ว แต่ความคิดที่จะช่วงชิงอำนาจกลับคืนก็มิได้จางหายไปจากความคิดดีนัก

 

ทั้งนี้ กบฏนายสิบ เป็นแผนที่จะเกิดขึ้นในเวลา 03.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478  เมื่อนายทหารชั้นประทวนในกองพันต่าง ๆ นำโดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด ได้รวมตัวกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหมายจะสังหารนายทหารและบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในกองทัพบกและรัฐบาลหลายคน โดยเฉพาะหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ให้จับตายเท่านั้น และเมื่อลงมือจริงต้องสามารถจับ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และ พันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป. พิบูลสงคราม - ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวประกันไว้ให้ได้ โดยมีแผนการจะยึดที่ทำการกระทรวงกลาโหมเป็นฐานบัญชาการ และปล่อยตัวนักโทษการเมืองต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกองกำลังด้วย จากนั้นจะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นิวัติคืนสู่พระนคร และเสด็จขึ้นครองราชย์อีกครั้ง

แนวคิดในการก่อกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นในกองพันทหารราบที่ 2 ในบังคับบัญชาของ พันตรีหลวงประหารริปู ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทรเกษม (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)

แต่รัฐบาลล่วงรู้แผนการไว้ได้ก่อน จึงสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เวลา 12.00 น. ต่อมาได้มีการตั้งศาลพิเศษชำระคดี หัวหน้าฝ่ายกบฏ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยศาลนี้ไม่มีทนาย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา และยังสามารถตั้งผู้พิพากษาได้ตามใจอีกต่างหาก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาที่ผ่านคดีต่าง ๆ มาแล้วอย่างมากเช่นศาลคดีตามปกติ

ทั้งนี้ มีผู้ถูกจับเป็นนายทหารประทวน 20นายและพลเรือน คน คือ

1.จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ 2.จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล 3.สิบโทเหมือน พงศ์เผือด 4.พลทหารจินดา พันธ์เอี่ยม 5.พลทหารฮกเซ่ง 6.สิบเอกเกิด สีเขียว 7.สิบโทชิ้น ชะเอมพันธ์ 8 .สิบโทปลอด พุ่มวัน 9.สิบโทเลี่ยม คะหินทพงษ์ 10. สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง 11. สิบเอกถม เกตุอำไพ 12. สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม 13. สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ 14. สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ 15. สิบเอกกวย สินธุวงศ์ 16. จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต 17. สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด 18. จ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดี 19. สิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร 20. สิบโทศาสน์ คชกุล  และ21. นายพุ่ม ณ พัทลุง พลเรือนเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นอดีตนายสถานีรถไฟกุดจิก อำเภอสูงเนิน โคราช ที่ถูกปลดครั้งกบฏบวรเดช

ผู้เริ่มต้นแนวคิดนี้ คือนายสิบจำนวน 8 คน (ผู้ต้องหาไม่ยอมซัดทอดว่ามีนายทหารหรือใครที่ใหญ่กว่านี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ แม้ว่ารัฐบาลจะเชื่อว่าน่าจะมี โดยเฉพาะพยายามให้ซัดทอดพระยาทรงสุรเดชมากที่สุด แต่ไม่เป็นผล)

ผู้ที่เป็นต้นคิดของเหล่าสิบกองพันนี้ก็คือ สิบเอกถม เกตุอำไพ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายวงไปยังกองพันทหารราบที่ 3 และนายทหารอีก 7 คนที่เป็นจุดเริ่มของกบฏครั้งนี้ คือ สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม, สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ, สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม, สิบเอกกวย สินธุวงศ์, สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ, สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์, สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง

ซึ่งทั้ง 8 คนนี้เป็นนายสิบอาวุโสของกองพัน เป็นผู้ที่คุมคลังอาวุธของกองพัน และเป็นทหารที่ใกล้ชิดกับเหล่าพลทหารที่เป็นกำลังหลักของแต่ละกองพัน ซึ่งเหล่านายสิบนี้คาดว่าจะนำกำลังเหล่านี้ออกปฏิบัติการในวันก่อการ

ส่วนกองพันทหารราบที่ 3 ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามนั้นมี จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต กับ สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด เป็นหัวแรงสำคัญ การพบปะพูดคุยกันก็ใช้ร้านค้าร้านอาหารที่สังสรรค์ของระดับชั้นประทวน

แผนที่เหล่านายสิบกลุ่มนี้คิดขึ้น คือ จะมีการนำเอารถถังออกมาข่มขวัญสักจำนวนหนึ่ง และแบ่งสายทหารราบเข้าประชิดตัวบรรดาสมาชิกของคณะราษฎร โดยเฉพาะสายของหลวงพิบูลสงคราม เช่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ, พันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจำรัส และ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา

แต่ว่าแผนการทั้งหมดได้เกิดแตกเสียก่อน เมื่อสิบเอกผู้หนึ่งในกรมรถรบที่ร่วมรู้ในแผนได้นำไปบอกกับทางรัฐบาล