พระราชดำรัสในหลวง ร.๙ เกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 9

        ในหลวงของเรา ทรงมีพระเมตตาต่อ ทรงมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวนา ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระราชดำริอย่างมากมายเพื่อพัฒนาข้าวไทย พระองค์ท่านทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็น แผ่นดินทอง ความทุกข์ยากลำบากแปรเปลี่ยนเป็นความสุขสบาย อยู่แบบพอเพียง ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เกี่ยวกับข้าวและชาวนามากมาย

         ในครั้งนี้ ขอพระบรมราชานุญาต รวบรวมบทความชุด ในหลวงกับข้าวไทย ๙ พระราชดำรัสเกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย ที่รวบรวมพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย เพื่อให้สิ่งดีงามเหล่านี้คงอยู่ตลอดไปตราบชั่วลูกชั่วหลานด้วยเทอญ

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเกี่ยวข้าว

๑. “.. ข้าวต้องปลูก เพราะอีก ๒๐ ปีประชากรอาจจะ ๘๐ ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”

- กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (๒๕๓๖)

 

พ่อหลวงรัชกาลที่ 9

๒. “ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้องคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกันเพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (๒๕๔๑)

 

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

๓. ” ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม ๒๕๐๔
 

รัชกาลที่ 9

๔. “…ในสมัยปัจจุบัน อาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูก ก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม…”

พระราชดำรัส พระราชทาน แก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ลงพื้นที่หาชาวนา

๕. ” เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก… เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก…   อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป”

พระราชดำรัส ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวัน เสาร์ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เเละพระราชินีนาถ

๖. ” ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และทำลายคุณภาพดิน แต่ ควรศึกษาสภาวะการตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผลไม่ให้ ประชาชนได้รับความเดือนร้อน

 

ในหลวง พระราชินี

๗. ” ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชน มีกิน แบบตามอัตภาพ คือ อาจไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก… หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และมีที่สำหรับขุดสระน้ำ “

 

แปลงนาข้าว

๘. “ในอนาคต…ข้าวไร่มีบทบาทมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ สำหรับพวกข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ให้เป็นพืชเสริมสำหรับแปรรูป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวเขาและเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”

กระแสพระราชดำริ เมื่อเสด็จทอดพระเนตรแปลงทดลองข้าว ณ สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙

 

ธนาคารข้าว

๙. “ธนาคารข้าว… ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฏรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใข้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม…ราษฏรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย

ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานธนาคารข้าวแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน!! ๔ ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย จากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ ๙ จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย(คลิป)!!

-พ่อสอนให้รักป่า รักสัตว์ป่า!!!พระราชดำรัสในหลวงร.9 ต้องยับยั้งไม่ให้ปชช.บุกรุกป่า และล่าสัตว์ ขอให้ช่วยกันดูแล

 

ที่มาจาก : http://u-rice.com/ในหลวงกับข้าวไทย

ขอบคุณคลิปจาก : Youtube เกียรติกมล จังโส