เอาจริง!! ตัดวงจรปลาหมอสีคางดำ กรมประมงเตรียมร่างกฎหมายเอาผิดคนปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

     จากกรณีที่เคยมีเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้จัดการกับปลาหมอสีคางดำ เพราะสร้างปัญหาให้กับเหล่าเกษตรกรเป็นอย่างมาก หลังเกษตรกรพบปลาชนิดนี้เข้ามาเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงปลาและกุ้งในพื้นที่จ.เพชรบุรี และจ.สมุทรสงคราม ปลาหมอสีคางดำจะกินเก่งเมื่อหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของชาวบ้านก็จะไปกินแพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกกุ้งขนาดเล็ก และยังสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วอีกทั้งยังมีโอกาสรอดตายสูง

เอาจริง!! ตัดวงจรปลาหมอสีคางดำ กรมประมงเตรียมร่างกฎหมายเอาผิดคนปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

     โดยกรงประมงได้จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเเละเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบายให้การช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหยุดวงจรการขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้สามารถมาทำลายสัตว์น้ำท้องถ่นของประเทศได้ โดยได้ข้อสรุปดังนี้

     แนวทางระยะสั้นที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน
1.กรมประมงเตรียมจัดโครงการกำจัดปลาหมอสีคางดำเพื่อลดปริมาณในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง โดยภายใต้โครงการนี้จะมีการรับซื้อปลาชนิดนี้ในช่วงระยะเวลาจำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเงื่อนไขและคำนวณราคารับซื้อให้เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนจับมาขึ้นมาขาย ทั้งนี้ กรมประมงได้ขอความร่วมมือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันนำอวนไปลากจับปลาหมอสีคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

2.กรมประมงได้เตรียมปล่อยปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำเพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำ ส่วนเหตุผลที่กรมประมงไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำทันทีเนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลากินเนื้อ แต่การเลี้ยงปลากะพงขาว ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะให้อาหารเม็ดส่งผลให้พฤติกรรมในการล่าเหยื่อที่เคลื่อนไหวลดน้อยลงไป ดังนั้น กรมประมงจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของปลากะพงขาวก่อนที่จะนำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำ

3.กรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเพื่อบริโภค เนื่องปลาชนิดนี้สามารถจับนำมาขึ้นมาแปรรูปรับประทานได้

 

     แนวทางระยะยาวที่จะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับแนวทางระยะสั้น
1.กรมประมงได้เตรียมร่างกฎหมายลำดับรองโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ซึ่งกรมประมงจะมีอำนาจอย่างชัดเจนในการควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยจะขึ้นบัญชีปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นๆ หากจะนำเข้ามาในประเทศก็จะ ต้องพิจารณารายชนิดไป ทั้งนี้กรมประมงไม่ได้กำหนดห้ามนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด การที่จะนำเข้าจะต้องให้คำตอบได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของ การนำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ และมีวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ สำหรับบทลงโทษถ้ามีการประกาศกฎหมายบังคับใช้หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวาง  โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.กรมประมงมอบหมายให้ทางสำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นและ   รณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยที่นิยมปล่อยปลาทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ ให้หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ สำหรับการหาผู้ปล่อยให้ปลาชนิดนี้ให้หลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเกษตรกรนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากเนื่อง จากคาดว่าปลาอาจหลุดรอดลงแหล่งน้ำสาธารณะมาประมาณ 4 – 5 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะพบแพร่กระจายอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
 
     ทั้งนี้ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่น(สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับ  ทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ  อันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป

เอาจริง!! ตัดวงจรปลาหมอสีคางดำ กรมประมงเตรียมร่างกฎหมายเอาผิดคนปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

 

 

 

 

 

ขอบคุณ   กรมประมง