รู้แล้วรีบแชร์ด่วน!! การใช้ “๑๐ ราชาศัพท์” ให้ถูกต้อง เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ ส.ค.๖๐ #ทรงพระเจริญ

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ การแสดงความจงรักภักดี ต้องใส่ใจระมัดระวังใช้ราชาศัพท์อย่างถูกต้องและสมพระเกียรติพระองค์ท่าน

รู้แล้วรีบแชร์ด่วน!! การใช้ “๑๐ ราชาศัพท์” ให้ถูกต้อง เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ ส.ค.๖๐ #ทรงพระเจริญ

ทั้งนี้ มีราชาศัพท์ ที่พบว่ายังใช้ผิดกันมาก สรุปได้ ๑๐ คำหลัก ที่ต้องระวังและตรวจสอบเพื่อใช้ให้ถูกต้องเสมอ ดังนี้

๑.การกล่าวถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

ณ เวลานี้ ต้องใช้ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙”

หรือย่อ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙”

หรือแบบกล่าวถึงพระอิสริยยศว่า “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙”

๒.การพูด-เขียน "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" ต้องวรรคเสมอ

คำว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" เป็นคำลงท้ายที่ ณ เวลานี้ ใช้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น (และจะใช้กับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว) ขอให้พึงสังเกตทุกครั้งที่เขียนคำนี้ หลัง ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม จะต้องวรรค ทุกครั้ง เพราะเป็นคำสองคำมาใช้รวมกัน เห็นมีสื่อและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหลายท่านเขียนติดกัน ซึ่งผิด

ที่ถูกจะต้องพูดหรือเขียนว่า... ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ (เคาะวรรค หรือพูดวรรค หลัง กระหม่อมเสมอ)

ซึ่งแปลเข้าใจง่ายๆ ว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" --> แปลว่า คุ้มหัวเรา...

"ขอเดชะ" --> แปลว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย

รวมความได้ว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย (คำเรียกพระบรมวงศานุวงศ์) คุ้มหัวเราให้มีความสุขความเจริญ

การเขียนคำลงท้ายที่ถูกต้อง ให้ใช้ว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ (เคาะวรรคหลังกระหม่อมเสมอ)

ข้าพระพุทธเจ้า นาย/นาง/นางสาว/.....(อย่าใส่ชื่อเล่น หรือนามแฝง) หรือ ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท.....ห้ามใส่เฉพาะชื่อ บริษัท เพราะบริษัทและหน่วยงานองค์กรไม่มีชีวิต ไม่สามารถพูดได้ มีแต่บุคคลหรือคณะบุคคลเท่านั้นที่สามารถ กล่าวถวายพระพรชัยมงคลได้

๓.ต้องใช้ "ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี" ไม่ใช่ "ทีฆายุโก..." และไม่ใช่ "ฑี..."

"ทีฆายุ โก..." เป็นคำที่ใช้สำหรับ (เพศชาย) ฉะนั้น สำหรับ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ต้องใช้ "ทีฆายุกา" และควรระวังอย่าเขียนผิดเป็น "ฑีฆา" (ฑ-นางมณโฑ) ที่ถูกจะต้องเป็น ท-ทหาร (ทีฆ ทีฆา = ยาว) และเขียนโดยเคาะเป็น ๒ วรรค แบบนี้..."ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี"...จึงจะถูกต้องตามแบบแผน

และควรทราบว่า เมื่อใช้คำว่า "ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี" แล้ว ก็ไม่ต้องใช้คำว่า ทรงพระเจริญ เพราะมีความหมายเดียวกัน

๔.คำว่า "อายุ" ต้องใช้ "พระชนมพรรษา" ไม่ใช่ "พระชนมายุ"

คำว่า พระชนมพรรษา (พฺระ-ชน-มะ-พัน-สา) แปลว่า อายุ เป็นคำราชาศัพท์ สำหรับพระราชอิสริยยศ พระมหากษัตริย์ และพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เท่านั้น โดยใช้ว่า มีพระชนมพรรษา หรือ ทรงเจริญพระชนมพรรษา เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา  

รวมไปถึงคำถวายพระพรชัยมงคลต้องใช้คำว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน" ไม่ใช่ "มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน" หรือ “มีพระชนม์พรรษายิ่งยืนนาน”

๕.ต้องใช้ "เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา..." ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส..."

มีคนจำนวนมากรวมทั้งสื่อมวลชนเอง กล่าวถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า "เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา" ซึ่งใช้ผิด เพราะคำว่า "วโรกาส" มีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ กล่าวคือ หากจะขอโอกาสพระมหากษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส เมื่อ ขอโอกาสจาก สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส

เมื่อพระมหากษัตริย์ ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระบรมราชวโรกาส เมื่อ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระราชวโรกาส

ดังนั้น ในกรณีอื่นๆ นอกจากการ "ขอโอกาส" และการ "ให้โอกาส" แล้ว จะไม่ใช้คำว่า "วโรกาส" แต่ให้ใช้ว่า "โอกาส"

สำหรับปี ๒๕๖๐ เมื่อจะกล่าวถึงศุภวาระนี้อย่างถูกต้องครบถ้วน ให้ใช้ว่า

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐

๖.ต้องใช้คำว่า "ถวายพระพรชัยมงคล" ไม่ใช่ "ถวายพระพร"

คำว่า "ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้เมื่อถวายพระพรพระราชวงศ์ สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชน เดิมให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" แต่ปัจจุบัน เนื่องเพราะหลายกิจกรรมผู้แสดงความจงรักภักดี มีทั้งพระสงฆ์และสามัญชน จึงให้ใช้คำว่า "ถวายพระพรชัยมงคล" โดยเน้นไปที่การทำกิจกรรมหรือคำกล่าว ส่วน “ถวายพระพร” ใช้แต่กับรูปประโยคว่า “ลงนามถวายพระพร” เท่านั้น

รู้แล้วรีบแชร์ด่วน!! การใช้ “๑๐ ราชาศัพท์” ให้ถูกต้อง เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ ส.ค.๖๐ #ทรงพระเจริญ

 

๗.ไม่มีธรรมเนียม การใช้คำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล" (ผิด)

ระหว่างนี้ มีข้อความการถวายพระพรชัยมงคลโดยใช้คำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ซึ่งรูปประโยคนี้ใช้ผิด

ควรทราบว่าปกติเราจะไม่ใช้คำว่า "น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล" เพราะคำว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย หรือ ทูลเกล้าฯ ถวาย มีธรรมเนียมใช้กับการถวายสิ่งของ เท่านั้น เช่น ถ้าของนั้น ยกได้ ก็ใช้ว่า ทูลเกล้าฯ ถวาย หากของหนัก ยกไม่ได้ ใช้ว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย ครับ

อนึ่ง คำว่า "ทูลเกล้าฯ ถวาย" แม้จะเขียนย่อ เวลาอ่านต้องอ่านเต็มว่า "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" เช่นเดียวกันกับคำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวาย" ต้องอ่านเต็มว่า "น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย" และควรทราบว่า ต้องมีคำว่า "ถวาย" อยู่ด้วยเสมอ

หากใช้รูปประโยค "ทูลเกล้าฯ" หรือ "น้อมเกล้าฯ" แบบนี้ผิดแบบแผนการใช้ ตามที่สำนักพระราชวังเคยมีหนังสือเวียน แจ้งไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงเมื่อเร็วๆ นี้

๘.ต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" อย่าใช้ผิดเป็น "ถวายความจงรักภักดี"

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักได้ยินผ่านสื่อโทรทัศน์เสมอว่า มีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยใช้คำว่า “เพื่อถวายความจงรักภักดี" ซึ่งเป็นการใช้คำผิด และอาจทำให้คนจำไปใช้ผิดๆ ด้วย ที่ถูกต้องใช้คำว่า “เพื่อแสดงความจงรักภักดี” หรือ “เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี”

ควรทราบว่า "ความจงรักภักดี" จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือ ยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล เป็นนามธรรม จึงควรทราบว่าการใช้คำว่า "ถวายความจงรักภักดี" เป็นการใช้คำไม่ถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศํพท์ครับ

ผมได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังว่า ที่ถูกต้องจะต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" เช่น "ประชาชนต่างออกมาเฝ้าฯ รับเสด็จ เพื่อแสดงความจงรักภักดี" หรือ "ขอเชิญร่วมแสดงพลังความจงรักภักดี" หรือ "มีความจงรักภักดี" แบบนี้จึงจะถูกต้องตามแบบแผนการใช้

๙.คำว่า "พระชนม์พรรษา" แบบนี้ เขียนผิด ที่ถูกต้องเขียนว่า "พระชนมพรรษา"

คำว่า "พระชนม์" อ่านว่า พระ-ชน แปลว่า อายุ จะ ใช้ต่อเมื่อเป็นคำโดดๆ  แต่จะใช้ในรูปประโยคอื่นๆ เช่น ทรงพระชนม์ (ยังมีชีวิตอยู่), เจริญพระชนม์ (เติบโตขึ้น), สิ้นพระชนม์ (สิ้นอายุ) เป็นต้น ส่วนคำว่าอายุที่สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องใช้คำว่า "พระชนมพรรษา" โดย อ่านออกเสียงว่า พฺระ-ชน-มะ-พัน-สา หากเขียนว่า "พระชนม์พรรษา" จะออกเสียงว่า พฺระ-ชน-พัน-สา ซึ่งผิดระเบียบแบบแผนทั้งการใช้และการออกเสียงครับ

๑๐.ภาพถ่าย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใช้ราชาศัพท์ว่า “พระฉายาลักษณ์” ไม่ใช่ “พระบรมฉายาลักษณ์” ไม่ใช่ “พระรูป”

และควรทราบว่า...การทำภาพ พร้อมข้อความถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อมีพระฉายาลักษณ์แล้ว ไม่ต้องใส่ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์

รู้แล้วรีบแชร์ด่วน!! การใช้ “๑๐ ราชาศัพท์” ให้ถูกต้อง เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ ส.ค.๖๐ #ทรงพระเจริญ

จากทั้ง ๑๐ ราชาศัพท์ที่กล่าวมานี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่เข้ามาศึกษา และร่วมใจกันแสดงความจงรักภักดี และการใช้ราชาศัพท์อย่างถูกต้อง และสมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ค่ะ

 

ขอขอบคุณ :

FB_ Noppadol Thongkham (นพดล ทองคำ) และ สถานีจราจรเพื่อสังคม FM99.5