ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

“เรื่องของช้างสยาม...จากป่าสู่วัง”
ช้าง  (ELEPHANT) ในวรรณคดี ถือเป็นสัตว์จตุบาทขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์เลือดอุ่น ช้าง อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ในสมัยโบราณมีการจารึกบันทึกเรื่องราวการกำเนิดของช้างเผือกตามคติความเชื่อไว้หลายรูปแบบ ประเทศไทยรับเอาความเชื่อเรื่องช้างมาปรับแปลงจากคติดั้งเดิมในศาสนาพราหมณ์ว่าช้างถือกำเนิดมาจาก “เกสรดอกบัว” จากพระนาภีของพระวิษณุ ส่วนตามมหากาพย์มหาภารตะระบุว่าช้างถือกำเนิดจากการ “กวนเกษียรสมุทร” และตามรามายณะ เชื่อกันว่าช้างกำเนิดจากธิดาบางองค์ของพระนางโกรธวสากกับ   พระประชาบดีกัศยปะ  แต่ตามคติความเชื่อของฮินดู กล่าวว่าช้างเชือกแรกกำเนิดจากไข่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยความเชื่อศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ มีความเชื่อว่า “ช้าง” เป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญ เพียรบารมี และความศักดิ์สิทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถา “ฉัททัตชาดก”  ทุกศาสนาที่กล่าวมาต่างก็ถือว่า “ช้าง” เป็นสัตว์ใหญ่และสูงส่งด้วยความเป็นมงคลทั้งปวง  เป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ทั้งเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์
การดูลักษณะช้างเผือกที่เป็นมงคลนั้น สมัยโบราณมีตำราที่รู้จักกัน เรียกว่า “ตำราคชศาสตร์” เป็นตำราที่บันทึกเรื่องราวว่าด้วยเรื่องของช้าง แบ่งออกเป็น ๒ หมวดหมู่ ได้แก่  “ตำราคชลักษณ์” ว่าด้วยการดูลักษณะความเป็นสิริมงคล โดยแบ่งช้างเผือกออกเป็น ๔ ตระกูล อันได้แก่ ตระกูลอิศวรพงศ์  ตระกูลพรหมพงศ์  ตระกูลวิษณุพงศ์  และสุดท้ายตระกูลอัคนิพงศ์  ส่วน “ตำราคชกรรม” กล่าวกันว่าเป็นตำราที่ฝึกหัดควบคุมสะกดช้างให้  เชื่อฟัง มีคาถาและพระเวทย์กำกับ ซึ่งสมัยก่อนผู้ที่จะร่ำเรียนตำราคชศาสตร์ได้นั้นจะเป็นพระมหากษัตริย์  เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ที่นี่ผู้เขียนจะขอกล่าวเข้าสู่ช้างในประเทศของเรากันบ้าง
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ชาติไทย “ช้าง” เป็นสัตว์อยู่เคียงข้างเป็นส่วนหนึ่งสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยังคงใช้คำว่า “สยามประเทศ” สละเลือดเนื้อและชีวิตข้างกายขุนศึกมาช้านาน จนประเทศไทยคงความเป็นเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยยืนยงสืบมาจนถึงปัจจุบัน การสงครามบนหลังช้างที่คนไทยอย่างเราๆ ท่านทราบดี ที่เรียกกันว่า “สงครามยุทธหัตถี” ที่โด่งดังเกิดขึ้นในรัชสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระนเศวรมหาราช การชนช้างของพระองค์เลื่องลือไปทั่วโลกถึงพระปรีชาสามารถ ที่ทรงเอาชนะอริราชศัตรูอย่างขาดลอย นับเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติชาติไทย  ช้างศึกคู่พระบารคู่พระทัยในคราวนั้น นาม “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”  มีเรื่องราวและตำนานอ้างอิงมากมาย ถึงขั้นนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนให้เราได้ชมกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ลูกหลานของเราได้มีจิตสำนึกในการรักชาติ และระลึกในพระคุณของ “ช้างต้น” ที่มีส่วนร่วมในการกอบกู้เอกราช นับได้ว่าเป็นสงครามบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่และเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ยังไม่ปรากฏสงครามยุทธหัตถีในราชพงศาวดารอีกเลย
นอกจากนี้ ช้าง ยังมีความสำคัญในการคมนาคม การค้ายังต่างประเทศ และเป็นสัตว์ที่คู่บุญญาธิการบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ราชวงศ์สุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี
เวลาล่วงเลยผ่านเข้าสู่รัชสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ แห่งราชวงศ์จักรี ช้างยังมีบทบาทในสงคราม  ที่ยิ่งใหญ่ จารึกในประวัติศาสตร์ตอนต้นกรุงฯ ใน “สงครามเก้าทัพ” ต่อมาได้ใช้ช้างสำหรับการบรรทุกอาวุธยุทธภัณฑ์ในการรบ และยังปรากฏอยู่บนธงชาติไทยผืนแรกของประเทศ “ธงช้างเผือก”  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๐ – ๒๓๙๘ ชักบนเรือหลวง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ในราชสำนักนั้น  ช้างยังคงมีบทบาทที่สำคัญเป็นราชพาหนะคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ “ช้างเผือก” ได้รับการยกย่องว่าเป็นช้างมงคลเป็นช้างคู่บารมีพระมหากษัตริย์ เมื่อพบช้างสำคัญ บนแผ่นดินไทย ผู้ที่ครอบครองจะต้องนำขึ้นถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถถือครอบครองเป็นของตนเอง เพราะมีความผิดตรากฎหมายในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา ๒๑ (อันนี้ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นความรู้) หลังจากนำช้างสำคัญถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระองค์ทรงปูนบําเหน็จตามสมควรแก่เจ้าของช้างที่นำมาถวาย ในปัจจุบัน “ช้าง” ก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็น “สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย”  
 
ช้างสำคัญ เมื่อพบแล้วจะจัดให้มีพระราชพิธีรับและสมโภชขึ้นระวางช้างเป็น “ช้างต้น” ยศนั้นเสมือนชั้นยศเจ้าฟ้า (ช้างต้นจะแทนสรรพนามว่า “ช้าง” ยกตัวอย่างเช่น ช้างต้น ๑ ช้าง หากเป็นช้างป่าจะเรียกเป็น “ตัว” ช้างบ้านจะเรียกว่า “เชือก”) ส่วนการกำหนดชั้นของช้างเผือก พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นผู้กำหนดเองโดย แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
ช้างเผือกเอก เป็นช้างสังข์และช้างสีทองเนื้อริน
ช้างเผือกโท เป็นช้างสีบัวโรย
ช้างเผือกตรี เป็นช้างสียอดตองตากแห้ง สีแดงแก่ สีแดงอ่อน และสีเมฆ
พระมหากษัตริย์ทรงพระราชนามแก่ช้างสำคัญใน “พิธีจารึกนามช้างสำคัญ”  ซึ่งนามของช้างจะบ่งบอกถึงที่มา ถิ่นกำเนิด คชลักษณ์ ความเป็นราชพาหนะ ความเป็นสิริมงคลต่างๆ ทุกประการ หรือกล่าวถึงพระบารมี    ของพระมหากษัตริย์ ดังรายนามช้างต้นที่มีจารึกไว้ นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๙ ดังตัวอย่างที่จะยกมาเล่าให้ผู้อ่านฟัง ในตอนหน้า ช้างคู่พระบารมี ในรัชกาลที่ ๙ ที่ใครๆ หลายคนคงเคยได้ยินนาม “พระเศวต”

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

โขลงช้างป่าเขาใหญ่

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

ภาพโขลงช้างป่าเขาอ่างฤไน จันทบุรี

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงช้าง ที่วัดศรีนวลธรรม วิมล เขต หนองเเเขม กรุงเทพมหานคร

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา

ช้างสยาม...จากป่าสู่วัง ... สู่ช้างคู่แผ่นดิน

ภาพธงชาติไทย สมัย รัชกาลที่ 5 (ธงช้างเผือก)

 

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพและแหล่งที่มาของเครดิตภาพที่นำมาใช้ในการประกอบสาระข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
เรียบเรียงโดย โชติกา  พิรักษา และศศิภา ศรีจันทร์ ตันสิทธิ
(ข้อมูลทางบรรณานุกรม  หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือ “ช้างคู่แผ่นดิน” โดย ศศิภา ตันสิทธิ, หนังสือพิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น สวนจิตรลดา กรมศิลปากร)