เผยเหตุที่ต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นยังพระวิมาน

ธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของพระราชวงศ์จักรีนั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างไปจากธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิของพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น หลังจากทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ เจ้าพนักงานก็จะอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานยังท้ายจรพระอุโบสถของวัดพระศรีสรรเพชญ(วัดประจำพระราชวังกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งต่างจากการเก็บรักษาพระบรมอัฐิของพระราชวงศ์จักรี 

เพราะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฏา(น้องชายของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1) ได้อัญเชิญโกศอัฐิของผู้เป็นพ่อตามเข้ามายังพระบรมหาราชวังด้วย เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงพระราชดำริว่า ตัวท่านเองรวมถึงพระพี่นาง และน้องๆอีกหลายพระองค์ไม่มีโอกาสได้ปลงศพพ่อ เพราะตอนนั้นบ้านเมืองเป็นทุรยศ เหล่าพี่น้องต่างก็กระจัดกระจายไปกันหมด เมื่อมารวมตัวกันได้ต่างก็อยากจะจัดงานสมโภชอัฐิให้พ่ออย่างสมเกียรติ
พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาอัฐิของพ่อขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ แลให้สร้างพระเมรุมาศองค์ใหญ่ตามโบราณราชประเพณีเทียบเท่ากับกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ณ ท้องสนามหลวง เมื่องานถวายพระเพลิงจบสิ้นลง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า หากจะนำพระบรมอัฐิของพ่อไปประดิษฐานไว้ท้ายจรพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือตามพระอารามหลวงนั้น เห็นทีจะเป็นการลำบากในภายหน้า เพราะเมื่อตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น ข้าศึกเข้าปล้นทรัพย์สินของมีค่าแม้กระทั่งโกศพระบรมอัฐิของกษัตริย์ที่ทำจากทองคำก็เอาไปหมดเหลือเพียงแต่พระอัฐิที่เททิ้งไว้เรี่ยราดจนไม่รู้ว่าเป็นของพระองค์ใด เพราะเหตุนี้พระองค์จึงอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้ามาไว้ในพระมหามณเฑียรใกล้ห้องพระบรรทม เพื่อหากภายภาคหน้าข้าศึกเกิดเข้าประชิดกำแพงวัง ก็จะเป็นการง่ายที่พระองค์จะหยิบฉวยติดมือไปด้วย


เผยเหตุที่ต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นยังพระวิมาน (รายละเอียด)

เมื่อถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ไม่ได้เข้าประทับที่พระมหามณเฑียรแล้ว เพราะพระองค์ได้สร้างพระมหาปราสาทที่ชื่อว่า “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” เมื่อสร้างแล้วเสร็จพระองค์จึงมีพระประสงค์ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และของสมเด็จพระเทพศิรินทร์ ผู้เป็นพระชนก และพระชนนี รวมไปถึงพระราชวงศ์ชั้นสูงขึ้นไปประดิษฐานใต้มุขยอดมหาปราสาท แล้วเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “พระวิมาน” จากนั้นเป็นต้นมา พระวิมานแห่งนี้ก็เป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัว พระอัครมเหสี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงมาโดยตลอดจวบจนถึงพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ


อนึ่ง พระมหามณเฑียรนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุง ลักษณะเป็นหมู่พระที่นั่งใหญ่ชั้นเดียว อันประกอบไปด้วย ตอนหน้าของพระมหามณเฑียรคือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ตอนกลางคือพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และตอนในคือพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมู่พระที่นั่งเหล่านี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


จากภาพด้านบนคือ ผังของพระวิมาน
วงกลมสีแดง คือพระวิมานด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5


วงกลมสีเหลือง คือพระวิมานองค์กลาง ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ พระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 รวมถึงพระอัครมเหสี และพระราชวงศ์ชั้นสูงที่โปรดเกล้าเป็นกรณีพิเศษ


วงกลมสีน้ำเงิน คือพระวิมานองค์ทิศตะวันตก ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของพระราชวงศ์ชั้นสูงตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ลงมา


จากภาพด้านล่างคือ เมื่อครั้งอัญเชิญพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ผ่านไปทางท้องพระโรงหน้าเสด็จขึ้นชั้นสามเพื่ออัญเชิญพระโกศทรงพระอัฐิขึ้นประดิษฐานยังพระวิมานองค์กลาง


เผยเหตุที่ต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นยังพระวิมาน (รายละเอียด)

 

เผยเหตุที่ต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นยังพระวิมาน (รายละเอียด)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก..คลังประวัติศาสตร์ไทย