ความเหมือน-ความแตกต่าง ล่าสัตว์สงวน ป่าทุ่งใหญ่ฯ 2516 - 2561

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.deepsnews.com

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการพูดถึงและเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งเมื่อมีกรณีพรานล่าสัตว์สงวน ซึ่งพรานคนดังกล่าวถือเป็นคนใหญ่คนโตของประเทศนี้เมืองนี้ โดยนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและ กรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ พร้อมพวก 3 คน ได้ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก  ซึ่งเจ้าหน้าที่พบของกลางซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง ซากเสือดำ ถูกชำแหละและถลกหนัง 

ความเหมือน-ความแตกต่าง ล่าสัตว์สงวน ป่าทุ่งใหญ่ฯ 2516 - 2561

เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น สื่อหลายสำนักได้คิดถึงเหตุการณ์ในวันเก่าเมื่อปี 2516 ซึ่งมีกรณีคล้ายๆกัน คือมีกลุ่มคนผู้มีอำนาจและบารมีเข้าไปล่าสัตว์ในเขตทุ่งใหญ่ฯ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้เป็นปฐมบทของเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษาออกมารวมตัวประท้วงผู้นำเผด็จการ จนเกิดความรุนแรงขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ด้วยความที่รัฐบาลของ “บิ๊กตู่”  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะถูกโยงให้กรณีทุ่งใหญ่ฯ 2516 และ ทุ่งใหญ่ฯ 2561 เป็นเสมือนเรื่องเดียวกัน เพราะวันนี้ก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษานักกิจกรรม ที่รวมตัวกันกดดันรัฐบาลอยู่ทุกวี่ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม กรณีทุ่งใหญ่ฯปี 2516 มีความแตกต่างกับคดีของนายเปรมชัย อยู่มาก เพราะปี 2516 เป็นการเข้าป่าล่าสัตว์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งวันที่ 26 - 29 เมษายน 2516 นายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เบลล์ เข้าป่าทุ่งใหญ่ฯ จ.กาญจนบุรี เพื่อฉลองวันเกิดของใครคนหนึ่ง ปรากฏว่าในขากลับ เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก 1 ใน 2 ลำ เกิดอุบัติเหตุตกระหว่างทาง ที่จังหวัดนครปฐม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะซากกระทิง เป็นจำนวนมาก

ความเหมือน-ความแตกต่าง ล่าสัตว์สงวน ป่าทุ่งใหญ่ฯ 2516 - 2561

เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังลือว่า หนึ่งผู้ที่ร่วมเดินทางด้วยคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายของจอมพลถนอม (เจ้าตัวปฏิเสธมาโดยตลอด) ขณะเดียวกันจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ว่าเครื่องบินที่ตก ได้ออกเดินทางไปปฏิบัติราชการลับด้านความมั่นคง ซึ่งดูสวนทางกับข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นผลให้นักศึกษาต้องรวมตัวกันเปิดโปง กระทั่งนักศึกษา 9 คน ถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัย เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม
 

ส่วนการล่าสัตว์ตามแบบฉบับนายเปรมชัย ค่อนข้างจะแตกต่างกับเหตุการณ์ในอดีต เพราะนายเปรมชัย เป็นบิ๊กบอสเอกชนรายใหญ่ ไม่ใช่นายทหารหรือข้าราชการระดับสูง แม้นายเปรมชัย จะมีอิทธิพล แต่ก็เป็นอิทธิพลของอำนาจเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้ใช้อำนาจทางราชการ ด้วยเหตุนี้แรงกดดันจึงไม่ส่งผลกระทบมาถึงรัฐบาลและ คสช.

ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีนักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง ออกมารวมตัวกันกดดันรัฐบาลและ คสช. โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ คืนอำนาจสู่ประชาธิปไตย แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่สามารถนำเรื่องของนายเปรมชัย มาโยงกับ คสช.ได้ เพราะนายเปรมชัยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หรือ คสช.

ส่วนที่เหมือนกันระหว่างปี 2516 กับปี 2561 คือมีการล่าสัตว์จากผู้มีอำนาจบารมีเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ทำให้รู้โดยทันทีว่า ที่ผ่านมา มีการล่าสัตว์สงวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาโดยตลอด อย่างไรก็ตามก็ตาม เรื่องของนายเปรมชัย อยู่ในความสนใจของสังคมไทย หากการทำคดีไม่มีความตรงไปตรงมา หรือสองมาตรฐาน เรื่องของคนนอกรัฐบาล ก็อาจเป็นภัยแก่รัฐบาลได้เช่นกัน