อย่าเอาแต่ความเคยชิน!! เปิด 5 เรื่องผิดกฎหมายที่หลายคนชอบทำ รู้แล้วเลิกด่วน...มีโทษหนัก?

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

อีกหนึ่งสาระน่ารู้ สำหรับ 5 เรื่องผิดกฎหมายที่คุณอาจทำเพราะความเคยชิน หรืออาจเพราะไม่รู้ - จอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น การจอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่น เข้าข่ายกฎหมายอาญาก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น ทำให้ไม่สามารถเข้า-ออกได้สะดวก มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57(15) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถกีดขวางทางจราจร มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

- ละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ โดยเข้าข่ายมีความผิดฐาน ทำซ้ำและเผยแพร่ คือ “ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการทำซ้ำดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรม” ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 โทษจำคุก 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท

 

- จอดรถในที่ห้ามจอด เพราะไม่ว่าจะตามตรอกซอกซอย หรือ ตลาดขนาดใหญ่จะพบทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ จอดอยู่ข้างถนน ทั้งในพื้นที่ขาวแดง และพื้นที่ที่มีป้ายประกาศห้ามจอด ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 ห้ามหยุดรถกีดขวางการจราจร ปรับไม่เกิน 500 บาท, มาตรา 57 ห้ามจอดรถขวางทางเข้า-ออก กีดขวางการจราจร ปรับไม่เกิน 500 บาท, มาตรา 139 ห้ามหยุดหรือจอดรถจุดที่มีประกาศห้ามของพนักงานจราจร ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

- การขายของบนทางเท้า ซึ่งทางเท้าที่เคยถูกกำหนดให้เป็นทางเดินสำหรับสัญจรของประชาชน แต่เต็มไปด้วยแผงขายสินค้า ทั้งรถเข็น หาบเร่ แผงลอย เต็มฟุตปาธของถนนเส้นต่างๆ หรือ หรือแม้กระทั่งตามซอยต่างๆ โดยที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้ทำการจัดระเบียบด้วยมาตรการเข้มข้นในหลายพื้นที่ แต่ยังพบว่าผู้ค้าทยอยกลับมาตั้งแผงขายสินค้ากันบางส่วน เพราะมองว่าเป็นความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้

 

โดยการกระทำที่เกิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งแบ่งได้หลายกรณี หากเป็นการวางของ ตั้งของ กีดขวาง หรือตั้งแผงเพื่อจำหน่ายสินค้า มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากมีการจอดรถขวางบนทางเท้า มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และมีการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบพบ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องยุติการกระทำผิดทันที พร้อมชำระค่าปรับตามที่กำหนด

 

- ขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดขึ้นสะพาน และลอดอุโมงค์ทางร่วมทางแยก พุทธศักราช 2559 ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด ขึ้นบนสะพานข้ามทางแยก สะพานยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำจำนวน 39 สะพาน และห้ามลอดอุโมงค์ทางร่วมทางแยก 5 แห่ง มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2559

 

 

 

*****ภาพหน้าปกข่าวข้างต้นใช้เพื่อประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในเหตุการณ์ที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด*****