เปีย ธีระวัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง "ประเทศกูมี"

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

"ธีระวัฒน์ รุจินธรรม" หรือ เปีย คือผู้กำกับเอ็มวี "ประเทศกูมี" และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม ซึ่งเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" เป็นของกลุ่มแร็ปเปอร์ "Rap Against Dictatorship" (RAD) หรือว่า "แร็ปต้านเผด็จการ

ธีระวัฒน์ เป็นผู้กำกับภาพแถวหน้าของไทย โดยในเอ็มวีประเทศกูมีเขาได้นำภาพจำลอง 6 ตุลาเข้ามาประกอบในเอ็มวี ซึ่งสำหรับ ธีระวัฒน์ เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และ Rap Against Dictatorship

 

เปีย ธีระวัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง "ประเทศกูมี"

 

เปีย ธีระวัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง "ประเทศกูมี"

ธีระวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงการนำภาพจำลอง 6 ตุลาเข้ามาประกอบในเอ็มวีว่า

"ไอเดีย 6 ตุลามาจากความสงสัยของเรา เราถ่ายหนังเรื่องแรกคือเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ในบทจะมีฉากหนึ่งเขียนถึงฉาก 6 ตุลา มีการเตรียมว่าจะถ่ายฉากนี้ยังไง แต่สุดท้ายผู้กำกับคือพี่บัณฑิต (ฤทธิ์ถกล) ตัดสินใจตัดออก เพราะไม่รู้จะนำเสนอยังไง ตอนนั้นแกบอกว่าถ้านำเสนอไม่ดีจะกลายเป็นการเอาศพมาประจาน เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของแกเท่าไหร่ในตอนนั้น

พอช่วงปีที่แล้วมีโอกาสไปช่วยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ช่วยกำกับหนังเรื่องสองพี่น้อง ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลามากขึ้น ล่าสุดเขาอยากให้เราช่วยหาจุดของต้นไม้แขวนคอต้นนั้น แล้วช่วงนั้นมีโจทย์ของเพลงนี้พอดี เราก็คิดวนๆ ในหัว ผสมกันไปมา สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นฉากศพแขวนใต้ต้นไม้ มีคนอยู่รอบๆ เชียร์การทารุณศพ ปกติเราดูแต่ภาพถ่าย แต่ถ้าเราเอากล้องไปอยู่ตรงใจกลางของเหตุการณ์นั้น คนดูน่าจะมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ซึ่งแล้วเราคิดว่า 6 ตุลามันคืออาการทางกายภาพของความเจ็บป่วยของประเทศนี้ที่ปัจจุบันมันก็ยังไม่ล้าสมัย

ไอเดียเรื่องกล้องคืออยากเล่นเทคยาว ให้แร็ปเปอร์ผลัดมาแร็ปคนละท่อน เดินวนไปรอบๆ และเราคิดว่าการออกแบบการเคลื่อนกล้องที่วนไปรอบๆ มันคือเหตุการณ์เมืองไทยที่ไม่ไปไหน วนเป็นวงกลม คนไม่มีการเรียนรู้ ผู้มีอำนาจไม่มีการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย โดยเป็นคอนเซปต์เฉพาะคนทำ คนดูไม่จำเป็นต้องเก็ทก็ได้

และด้วยความยาว 5 นาที เราจึงต้องออกแบบให้เริ่มจากการมีแร็ปเปอร์ออกมาแร็ป โดยมีฉากหลังเป็นคนตบมือซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคือการตบมืออะไร อาจจะนึกว่าแค่มาสนุกกับนักร้องที่มาร้องเพลง แต่สุดท้ายพอเห็น Chair Man คนที่เอาเก้าอี้มาฟาดศพ คนดูก็จะรู้ว่ามันคือเหตุการณ์อะไร และเป็นไฮไลท์ในตอนสุดท้าย"

ภาพศพและการฟาดเก้าอี้

"อันนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงในใจตัวเอง แล้วเราก็เล่าคอนเซปต์นี้ให้เพื่อนที่เป็นนักวิจัยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ว่าคิดยังไงที่เราเอาภาพความรุนแรงของ 6 ตุลากลับมาทำใหม่ มันจะเหมือนเราเอาภาพมาข่มขืนคนดูซ้ำรึเปล่า เขาก็บอกว่าบางทีภาพเหตุการณ์ความรุนแรงเราปฏิเสธไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีสองปีที่แล้วเราเพิ่งรู้ว่าคนที่ถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้มีแค่ 2 คนตามที่เคยเข้าใจกัน แต่มีถึง 5 คนเป็นอย่างต่ำ และบางคนยังไม่รู้ชื่อด้วยซ้ำ

เราก็ตกใจว่าเรื่องแบบนี้ปล่อยผ่านมาได้ยังไงตั้ง 40 กว่าปี และจากที่ฟังหลายๆ คนมา คนในยุคนั้นคิดว่ามันคือภาพความรุนแรงโหดร้ายและเขาไม่กล้ามองมันตรงๆ เราเข้าใจว่าเพราะการไม่กล้ามองตรงๆ นี่แหละที่ไปสร้างความเข้าใจผิดขึ้นมา อีกตัวอย่างคือ รูปคนถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ คนคิดว่าเป็น วิชิตชัย อมรกุล แต่อันที่จริงคือยังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร ส่วนวิชิตชัยนั้นถูกแขวนคอในอีกภาพหนึ่ง

ประเด็นก็คือบางทีเราต้องมาเพ่งมองมันตรงๆ ว่าอะไรมันเกิดขึ้นข้างหน้า เราเลยมีความรู้สึกว่าเมื่อชั่งตวงแล้ว ประเด็นที่บอกว่าเอาความรุนแรงมาผลิตซ้ำจึงถูกตีตกไป บางทีเราก็ต้องนำเสนอความรุนแรงด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมาเหมือนกัน คนถึงจะรู้สึกได้ และเห็นความจริงบางอย่าง"

 

เปีย ธีระวัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง "ประเทศกูมี"

ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. เปิดเผยถึงเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ว่า เบื้องต้นทาง พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฎในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง

เบื้องต้นจากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เพราะความเสียหายที่ปรากฏในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา

ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14(2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา

ส่วนที่กลุ่มศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า หากมีการดำเนินคดี ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะให้การว่าเขารู้สึกอย่างไร หรือข้อเท็จจริงในส่วนของเขาเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่

ส่วนภาพที่ปรากฎในมิวสิควิดีโอบางส่วนคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตที่มีการจำลองหุ่นแขวนอยู่บนต้นไม้ และมีกลุ่มคนคอยเชียร์ให้ชายในคลิปนำเก้าอี้ฟาดหุ่นเป็นการเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวมอาจเข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

เปีย ธีระวัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง "ประเทศกูมี"