อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชงแก้ปัญหา ห้ามข้าราชการขับรถส่วนตัวมาทำงาน ลดวิกฤตฝุ่นควันพิษ

เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมารายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่าสภาพอากาศในช่วงนี้มีอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้ารวมถึงมีหมอกหนาหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 

 

โดยก่อนหน้านี้ (20ม.ค.) กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ด้วยว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดี ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยระบุสาเหตุว่าจากสภาพอากาศในช่วงเช้าลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศปิด ลมสงบ ความเร็วลมส่วนใหญ่ต่ำกว่า 3.6 กม./ชม. ไม่มีฝน ทำให้สถานการณ์ ค่า PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศของ คพ.และ กทม. บริเวณพื้นที่ริมถนน คุณภาพอากาศโดยรวมมีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 18 จุด 
 

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานการประชุมการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

ทั้งนี้ ด้าน นายประลอง ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ผลการหารือได้ข้อสรุปใน 3 แนวทางเพื่อนำเสนอต่อ รัฐมนตรีทส.เพื่อนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป คือ 1.ขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เช่น ทาง บก.จร.มีด่านตรวจวัดควันดำ 20 จุดในพื้นที่รอบนอก กทม. จากนี้จะเพิ่มหน่วยเคลื่อนที่อีก 5 หน่วย เพื่อดำเนินการในพื้นที่กทม.ชั้นในและจุดที่ได้รับร้องเรียนในเรื่องค่าฝุ่นละออง"


"ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก มีการเร่งการดำเนินการตรวจรถโดยสาร ขสมก.โดยดำเนินการแล้ว 1,500 คัน และเร่งดำเนินการให้ครบโดยเร็ว ขณะที่ในส่วนของกรมฝนหลวง จะเร่งทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นในช่วง 7 วันนี้ โดยเพิ่มจุดทำฝนหลวงเป็น 2 จุด คือจากในพื้นที่ จ.ระยอง เป็น จ.นครสวรรค์ด้วย ซึ่งยืนยันว่าการทำฝนหลวงและฉีดน้ำนั้นช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ เป็นต้น"

"2.หากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ยทั่วทั้งพื้นที่ กทม.เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน 3 วันแล้ว ทางอธิบดีกรมอนามัยและรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ร่วมประชุมในวันนี้เสนอให้มีมาตรการควบคุมการจราจร และการก่อสร้างที่เข้มข้นขึ้น โดยให้เริ่มจากหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น อาจจะห้ามข้าราชการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน แต่จะต้องขอความเห็นชอบจากแต่ละหน่วยงานด้วย 

 

3.หากดำเนินการตามมาตรการต่างๆ แล้วค่าฝุ่นละอองยังไม่ลดลง จะให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ.2561 ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งระบุว่าหากเกิดปัญหาที่สร้างความนุแรงและมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รมว.สาธารณสุขสามารถออกประกาศดังกล่าว โดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ กทม.ในการออกประกาศ กทม.เพื่อให้แหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษหยุดกิจกรรมใดๆ ได้"

 

นอกจากนี้ สำหรับการเสนอให้ออกประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ กทม. ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมส่งแวดล้อม 2535 นั้น วันนี้เราแก้ไขปัญหาตาม 3 ขั้นตอนข้างต้นก่อน ถ้าจะประกาศอะไรรุนแรงออกมาเลยนั้นมันต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย หลายอย่างต้องดูว่าถ้าประกาศไปแล้วจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.ขนาดไหน และตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศของเราจำนวนมาก จึงไม่อยากทำอะไรที่รุนแรงเกินไปและสำคัญที่สุดคือเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการเดินทาง 

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชงแก้ปัญหา ห้ามข้าราชการขับรถส่วนตัวมาทำงาน ลดวิกฤตฝุ่นควันพิษ

(ฝุ่นยังวิกฤต)

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชงแก้ปัญหา ห้ามข้าราชการขับรถส่วนตัวมาทำงาน ลดวิกฤตฝุ่นควันพิษ

(หน่วยงานเร่งฉีดน้ำ-ตรวจควันพิษ)

 

@RichardBarrow  @a_apiradee