สนธิรัตน์​ ลุยแก้กม.ยา​ ท้าชนโรงพยาบาลขูดเลือด (คลิป)

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ถ้าอาการไหน หรือ โรคไหน สามารถรับประทานยาเองแล้วหายได้ ก็ไม่มีใครอยากไปหาหมอที่โรงพยาบาง เพราะต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แต่ถ้าหากโรคที่เป็นแล้วไม่สามารถหายเองได้ ก็ต้องพึ่งพาหมอทันที  อยากได้บริการที่ดี มีเงินหน่อยก็ไปโรงพยาบาลเอกชน คนที่มีเงินน้อย ก็ต้องไปเข้าคิวรอโรงพยาบาลรัฐบาลตั้งแต่ ตี 3 ตี 4 แต่สิ่งที่สร้างความเลื่อมล้ำ ที่เห็นได้ชัดในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน นั้นก็คือ เรื่องของค่ายา และ ค่ารักษาพยาบาล ที่มันแพงเกินจริง จนต้องมีการตั้งคำถามกลับไปว่า โรงพยาบาลทำเพื่อธุรกิจ หรือ เพื่อจรรยาบรรณในวิชาชีพกันแน่

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินจริง โดยได้หารือร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล โดยได้มีมาตรการให้ทางโรงพยาบาลเอกชนแสดงค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้มีความโปร่งใส ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปเช็คราคายาในเบื้องต้น

 

สำหรับข้อเสนอให้นำค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม ภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและได้เสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากำหนดเป็นสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งในวันนี้ต้องมารอลุ้นกัน ว่า ครม.จะเห็นชอบ ค่ายา-ค่ารักษา เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่

 

โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กล่าวถึงเรื่องการควบคุมยา เวชภัณฑ์ และบริการของโรงพยาบาลเอกชน มีรายละเอียดซับซ้อนมาก จะชะลอการเสนอมติ กกร. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศให้เป็นสินค้า-บริการควบคุมออกไปก่อน

 

แต่ว่าล่าสุด นายสนธิรัตน์ได้เสนอ ครม. ในการประชุมวันที่ 22 ม.ค. นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 2562 ตามมติของ กกร. 52 รายการ ซึ่งรวมถึงให้เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เป็นสินค้า-บริการควบคุมด้วย

 

ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลไม่ได้กำหนดเป็นบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ได้มีมาตรการกำกับดูแล คือให้ปิดป้ายแสดงค่ารักษาพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและชัดเจน หรือให้จัดทำเป็นเอกสารหรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบอัตราค่ายาและค่าบริการก่อนการตัดสินใจใช้บริการ ด้านกระทรวงสาธารณสุขมีพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยการประกอบกิจการสถานพยาบาลและการดำเนินการสถานพยาบาล มาตรา 32 (3) ผู้รับอนุญาตต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดโทษ มาตรา 59 ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีการประมาณการอัตราค่าบริการเบื้องต้น แจ้งให้ผู้รับการรักษาทราบก่อน

 

ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน สูงกว่ารพ.รัฐ 70-400 เท่า ทำให้เกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นและราคาแพง ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เผยแพร่งานวิจัย ประเด็นค่ารักษา รพ.เอกชน ในชื่อว่า “ค่าบริการ รพ.เอกชนแพงแค่ไหน” ได้มีการเปรียบเทียบราคายาโรงพยาบาลรัฐกับราคายาในโรงพยาบาลเอกชนไว้ดังนี้

ค่ายาโรงพยาบาลรัฐ / ค่ายาโรงพยาบาลเอกชน

วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท

วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 600 บาท ใน (รพ.เอกชน)

 

ยาฉีดแก้ปวด ขนาด 50 มก. ราคา 6.50 บาท

ยาฉีดแก้ปวด ขนาด 50 มก. 450 บาท (รพ.เอกชน)

 

ราคาท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท

ราคาท่อดูดเสมหะชิ้นละ 440 บาท (รพ.เอกชน)

ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท

ไหมเย็บแผลชุดละ 460 บาท (รพ.เอกชน)

 

ขณะเดียวกันหากเป็นการรักษาพยาบาลทั่วไป ยกตัวอย่างการคลอดลูก ระหว่างโรงพยาบาลรัฐบาล และโรงพยาบาลเอกชน ค่าคลอดลูกก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล คลอดปกติจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 - 10,000 บาท หากผ่าตัดคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 - 25,000 บาท

แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน คลอดปกติอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท ผ่าตัดคลอดอยู่ที่ประมาณ 59,000 บาท นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล ค่ายาที่ได้มีการแจกแจงรายละเอียดมาให้ผู้ชมได้เห็นกันไปแล้วนั้น หากเรามาดูภาพรวมในแต่ละประเทศ จะพบว่าประเทศไทยเอง ก็มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่น้อยเลยทีเดียว

 

สนธิรัตน์​ ลุยแก้กม.ยา​ ท้าชนโรงพยาบาลขูดเลือด (คลิป)

 

ด้านฟากฝั่งของอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยระบุถึง การที่ ครม.จะมีมติอนุมัติราคายาเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่นั้น คงได้แต่ถามว่า คิดดีและรอบคอบแล้วหรือไม่ ได้ถามประชาชนที่เขาพอใจบริการนี้แล้วหรือไม่ เพราะ รพ.ที่ค่ารักษาถูกกว่านี้ แต่คุณภาพอีกระดับเขาก็ไม่ได้เลือกไปเข้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากดูข้อมูลการเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชนใน 1 วันประมาณ 4-5 หมื่นคน ประมาณ 90-95% เป็นผู้ป่วยที่มาซ้ำแล้วซ้ำอีก มีเพียง 5-10% ที่มาครั้งแรก และพอมาครั้งแรกแล้วพบว่า เกินครึ่งก็พอใจที่จะมาอีก นั่นแปลว่ามีความคุ้มค่า และพอใจในบริการ เรื่องค่ารักษาไม่ได้เป็นปัญหา มีบางส่วนที่ไม่ถูกใจและมองว่าอาจจะไม่เหมาะกับตัวเองก็ไม่ได้กลับเข้ามาอีก ส่วนการบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนลดราคายา หรือค่ารักษาลง คงทำไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีต้นทุนค่ายาไม่เท่ากัน เช่น บริษัทยาจะขายยาให้โรงพยาบาลรัฐบาลในต้นทุนต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐมีมากกว่า”

 

ทั้งนี้ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในวันนี้ ครม. จะเห็นชอบตามมติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) หรือไม่ ที่จะให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนเป็นสินค้าควบคุม