ดร.สามารถ เล่าทุกเงื่อนปมไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน สรุปว่า กลุ่มทุน CPH ทำตัวเองเสี่ยงถูกแบล็กลิสต์?

ถือเป็นหนึ่งประเด็นใหญ่ระดับประเทศ สำหรับความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่จนวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า บทสรุปจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะได้ชื่อบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ มารับผิดชอบดำเนินโครงการแล้วก็ตาม จากปัญหาทางเทคนิคที่กำลังกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสครั้งสำคัญ

ถือเป็นหนึ่งประเด็นใหญ่ระดับประเทศ   สำหรับความคืบหน้า  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท  ที่จนวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า บทสรุปจะเป็นอย่างไร  แม้ว่าจะได้ชื่อบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ มารับผิดชอบดำเนินโครงการแล้วก็ตาม  จากปัญหาทางเทคนิคที่กำลังกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสครั้งสำคัญ

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์   รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  และ อดีตรองผู้ว่ากทม.  ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว  มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้  "  ต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม CPH ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วยสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา จะเซ็นสัญญาสัมปทานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นเส้นตายที่ รฟท.ขีดให้หรือไม่

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์


หากกลุ่ม CPH ไม่เซ็นสัญญาตามกำหนดเวลาจะถูกจะยึดหลักประกันซอง 2 พันล้านบาท และอาจจะถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์ ซึ่งจะมีผลให้บริษัททุกบริษัทในกลุ่ม CPH ไม่สามารถรับงานภาครัฐได้อีกต่อไป ทั้งนี้ กลุ่ม CPH ประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท China Railway Construction Corporation Limited และบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

 

 

กลุ่ม CPH ชนะการประมูลด้วยการขอเงินสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุดคือ 117,226.87 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินเพดานที่รัฐกำหนดไว้ 119,425.75 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีวงเงินทั้งหมด 224,544.36 ล้านบาท รัฐลงทุน 117,226.87 ล้านบาท คิดเป็น 52% นับว่าเป็นสัดส่วนการลงทุนร่วมกับเอกชนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่รัฐต้องร่วมลงทุนถึง 80-85%

 

 


จากการที่กลุ่ม CPH ขอให้รัฐร่วมทุนน้อย ทำให้กลุ่ม CPH ต้องลงทุนมาก ส่งผลให้โอกาสที่จะได้กำไรยากมาก เหตุที่กลุ่ม CPH เสนอให้รัฐร่วมลงทุนน้อยคงเป็นเพราะต้องการชนะการประมูล เนื่องจากการประมูลตัดสินด้วยจำนวนเงินที่รัฐต้องร่วมลงทุน หากผู้เข้าประมูลรายใดขอให้รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุดก็จะชนะการประมูล ถามว่ากลุ่ม CPH รู้หรือไม่ว่าจะขาดทุนจากโครงการนี้  ตอบว่ารู้  เมื่อรู้แล้วทำไมยังยื่นข้อเสนอไปอย่างนั้น ตอบได้ว่าอาจเป็นเพราะกลุ่ม CPH คาดหวังว่าข้อเสนอเพิ่มเติมที่กลุ่ม CPH เสนอต่อ รฟท.ในซองประมูลที่ 4 จะได้รับการตอบรับจาก รฟท. ซึ่งจะทำให้โครงการไม่ขาดทุน


ข้อเสนอเพิ่มเติมที่กลุ่ม CPH เสนอต่อ รฟท.มี 12 ข้อ อาทิ (1) ให้รัฐร่วมลงทุนตั้งแต่ปีแรกจากเดิมที่รัฐจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปีที่ 6 (2) ให้รัฐหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (3) ขอจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาในปีที่โครงการพัฒนาที่ดินได้กำไร เป็นต้น แต่ รฟท.ปฏิเสธทั้งหมด เพราะหากรับข้อเสนอเพิ่มเติมจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งขัน


เมื่อข้อเสนอเพิ่มเติมถูกปฏิเสธจาก รฟท. ในขณะที่ถูกขีดเส้นตายให้เซ็นสัญญาภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 กลุ่ม CPH จะทำอย่างไร หากเดินหน้าเซ็นสัญญาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะขาดทุน แต่หากไม่เซ็นอาจถูกแบล็กลิสต์ ไม่สามารถรับงานรัฐได้อีกต่อไป ที่สำคัญ จะทำให้เสียชื่อเสียง

 

 

รถไฟความเร็วสูง

ถึงเวลานี้ กลุ่ม CPH ซึ่งประกอบด้วยบริษัทชั้นนำหลายบริษัทคงต้องเลือกที่จะรักษาชื่อเสียงของตนไว้ ไม่ยอมให้ถูกแบล็กลิสต์แน่ ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม CPH คงมีทางเลือก 2 ทาง ดังนี้

 

รถไฟความเร็วสูง


1. กรณี รฟท.ใช้มาตรการแบล็กลิสต์จริง  กลุ่ม CPH จะเซ็นสัญญา โดยยื่นเงื่อนไขให้ รฟท.ส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างตามกำหนดเวลาและแผนการก่อสร้างของตน หาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบได้ อาจนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาโดยกลุ่ม CPH ในภายหลัง เนื่องจากโครงการมีความเสี่ยง


2. กรณี รฟท.ไม่ใช้มาตรการแบล็กลิสต์ กลุ่ม CPH คงไม่เซ็นสัญญา โดยยอมให้ รฟท.ยึดหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และอาจจะอ้างว่า รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ตามกำหนดเวลาและแผนการก่อสร้างของตนได้ ทำให้โครงการมีความเสี่ยง ส่งผลให้หาแหล่งเงินกู้ไม่ได้


ทั้งหมดนี้ด้วยความหวังดี  อยากให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เปรียบได้กับกระดูกสันหลังของอีอีซีเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม รฟท.จะต้องระมัดระวังอย่างมากไม่ให้เกิดค่าโง่ดังเช่นโครงการโฮปเวลล์ขึ้นมาอีก
 

 

รถไฟความเร็วสูง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ดร.สามารถ กางลำดับให้ดู..ใครบ้างไม่โอเค เทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) รอวัดใจ บิ๊กตู่ ฟันธง! (คลิป)
-ดร.สามารถฉายภาพย้ำ ผลกระทบใหญ่เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ(ตัดแปะ) ฝืนทำระวังเจริญฮวบๆ (คลิป)
-ดร.สามารถ ทำคลิปแจงทุกประเด็นคาใจ ทำไมต้องค้าน ทอท. ดันทุรัง เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ (คลิป)
-"ดร.สามารถ" จัดอีกชุดใหญ่ "เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ" ดันทุรังสร้างไป..รู้มั๊ยผดส.จะลำบากแค่ไหน??