กรมอุทยานแห่งชาติ เผยวินาที เสือโคร่ง ล่ากระทิงป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความ พร้อมคลิปวีดีโอ โดยระบุว่า 

 

กรมอุทยานแห่งชาติ เผยวินาที เสือโคร่ง ล่ากระทิงป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

 

 

คลิปชัดจับภาพเสือโคร่ง HKT204 เป็นผู้ล่ากระทิงเพศเมียตัวเต็มวัย ใกล้แคมป์แม่กระสา ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ตามที่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร-นครสวรรค์ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้รายงานว่า พบซากกระทิงเพศเมียตัวเต็มวัย นอนตายอยู่บริเวณใกล้ร่องน้ำด้านขวาก่อนขึ้นมอมะค่า ทางไปแคมป์แม่กระสา ห่างจากเส้นทางเดินรถประมาณ 50 เมตร เพราะถูกเสือล่า และต่อมาได้ร่วมกับ WWF นำกล้องดักถ่าย ไปติดตั้งไว้รอบซากกระทิง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกนั้น

เมื่อสายของวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เจ้าหน้าที่ได้เปิดกล้องที่แอบถ่ายไว้ดู พบว่า ได้ภาพและคลิปที่ชัดเจน ว่ากระทิงถูกล่าโดยเสือ

จากการตรวจสอบของทีมงานนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนักวิจัยของ WWF พบว่าเสือโคร่งตัวที่เห็นในคลิปวีดีโอ ซึ่งกำลังกินซากกระทิง ดังกล่าว คือ เสือโคร่ง HKT 204 หรือ MKM8 เพศผู้ ตัวโตเต็มวัยกำลังเข้าสู่โตเต็มวัยช่วงปลาย (old adult)

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่าเสือโคร่งตัวนี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกของเสือโคร่ง HKT 165 เคยถ่ายภาพครั้งแรกได้เมื่อปี 2556 ต่อมาได้เดินทางมาตั้งถิ่นอาศัยของตนเองในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยสามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่ากระทิงในครั้งนี้ ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการจะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่ง (tiger source site) ที่สำคัญของประเทศไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่าสูง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่กับโลกของเราตลอดไป

 

กรมอุทยานแห่งชาติ เผยวินาที เสือโคร่ง ล่ากระทิงป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

 

 

ทั้งนี้ทีมงานนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะหารือวางแผนจับเสือโคร่งตัวนี้ใส่ปลอกคอติดวิทยุประจำตัว เพื่อเก็บข้อมูลระยะยาวของเสือโคร่งในระดับผืนป่า อันจะสามารถติดตามประชากรเสือโคร่งได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนและจัดการเพื่ออนุรักษ์ให้ได้อย่างประสิทธิภาพตามหลักสิชาการต่อไป

ข้อมูล/ภาพ
1.นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล
หน.อช.แม่วงก์ สบอ. 12

2.ดร. อัจฉรา ซิ้มเจริญ
หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ
สบอ. 12

3.WWF

 

กรมอุทยานแห่งชาติ เผยวินาที เสือโคร่ง ล่ากระทิงป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์