รศ.ยืน ชี้การศึกษายุคโควิดเปลี่ยนแปลงมหาศาล จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

รศ.ยืน ชี้การศึกษายุคโควิดเปลี่ยนแปลงมหาศาล จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝาแฝดผู้พี่ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้โพสต์ข้อความดังนี้

 

รศ.ยืน ชี้การศึกษายุคโควิดเปลี่ยนแปลงมหาศาล จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

การศึกษาแบบปกติใหม่

วันนี้ได้มีโอกาสแพคคู่ กับ ศาสตราจารย์ ยง ทำให้ได้คำตอบ ของการศึกษาแบบปกติใหม่ ที่เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และคงจะไม่กลับมาเหมือนเดิม

เรื่องแรกเป็นการที่ทำให้ ผม และอาจารย์ยง สามารถนำเสนอ และพบกับ ผู้สนใจเป็นพันคนได้ เทคโนโลยี ทำให้สามารถส่งความรู้ กิจกรรมการศึกษาให้กับผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล เป็นพันคน ได้ดี ไม่เหมือน การเรียน การสอนทางไกลที่ยังส่งหนังสือ บทเรียน ไปให้ผู้เรียน

ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน ตามที่ตนเองสนใจ เลือกเรียน กับ อาจารย์คนไหนก็ได้ ต่อนี้ไป การศึกษาจะมาอยู่ในมือผู้เรียน ที่เลือกอาจารย์ หรือ ความรู้ที่อยากเรียนได้ ไม่ใช่ ผู้สอนหรือโรงเรียนเลือกผู้เรียน

บนการศึกษาแบบปกติใหม่ ต้นทุนของการศึกษาถูกลงมาก การเรียนจะสะดวกขึ้นมาก อยู่ที่ไหน ก็เรียนได้ การศึกษา เป็นแพลตฟอร์มที่นำผู้เรียน เข้าหาอาจารย์ที่เลือกได้ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมมาก

การศึกษาแบบปกติใหม่ จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมองย้อนดูตัวเอง สมัย สอบเข้าเรียนวิศว ไม่ได้เลือกแพทย์เหมือน อาจารย์ยง ชอบคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ทำได้ดีมาก เลือกวิศวกรรม ตลอดสี่ปี ในหลักสูตรปริญญาตรี ไม่มีเรียนวิชาใดเกี่ยวกับชีววิทยาเลยแม้แต่น้อย แต่เรียนคณิตศาสตร์พื้นฐาน มาก เรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ต่อมาเรียนทางด้านวิศวกรรมระบบ และ วิศวกรรมอุตสาหกรรม มาสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ และเปลี่ยนมาทางดิจิทัล คอมพิวเตอร์ แต่ที่น่าแปลก ในช่วงเวลาตั้งแต่ โควิดระบาด สนใจอยากรู้เรื่องไวรัส ต้องศึกษาทางเคมี ชีวโมเลกุล และชีววิทยา ชีวสารสนเทศ สามารถเรียนรู้เองได้เร็วมาก เริ่มจากจินตนาการ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ที่อยากรู้ได้ทุกเรื่อง ทำให้เข้าใจชีววิทยาระดับโมเลกูล ด้วยการเรียนรู้เอง แบบปกติใหม่

ด้วยการเรียนรู้แบบปกติใหม่ ทำให้ค้นหา เรียนรู้ เข้าใจโครงสร้างโมเลกูล การฟอร์ม ดีเอ็นเอ และ สามารถอธิบาย กระบวนการตัดต่อสาย ดีเอ็นเอได้ เข้าใจหลักการ RT-PCR วัคซีนแบบ mRNA ที่หลายประ่เทศสนใจ กำลังแข่งพัฒนา อีกทั้งหาคำตอบแนวคิดของการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ การทำจีเอ็มโอ หรืออนาคต กับการสร้างชีวิตใหม่ ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานจินตนาการทางคณิตศาสตร์ที่มีพื้นอยู่ ทำให้เห็นว่า การศึกษาของเด็กไทยต้องปรับอีกมาก

บนการศึกษาแบบปกติใหม่ จะไม่แยกขอบเขตวิชาแบบเดิม ทุกวิชาความรู้จะเชื่อมเป็นเนื้อเดียว ไม่มีการแยก ชีว ฟิสิกส์ เคมี

จึงมั่นใจว่า การศึกษาในยุคโควิด จะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล การศึกษาแบบปกติใหม่ จะหันจากผู้สอน ไปหาผู้เรียน และเป็น Self Directed Learner บนพื้นฐานของแหล่งความรู้ที่มีมากมาย ไม่ต้องรอจากครูสอนอีกต่อไป

อยากให้คิดต่อว่า อะไรจะเกิดขึ้น บนการศึกษาแบบปกติใหม่ ที่อาจทำให้ การศึกษาไม่ใช่เพื่อกระดาษหนึ่งใบ