สภาพัฒน์ แจงเหตุตัดงบ อสม. 500 บาท 19 เดือน แม้ทำงานหนักช่วงโควิด 19

สภาพัฒน์ แจงเหตุตัดงบ อสม. 500 บาท 19 เดือน แม้ทำงานหนักช่วงโควิด 19

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยควบคุมการระบาดของโควิด 19 ได้ดี นอกจากการได้รับความร่วมมือจากชาวไทยแล้ว คนที่มีส่วนสำคัญอีกแรงหนึ่งนั่นคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ช่วงลงพื้นที่ให้คำแนะนำประชาชนในชุมชน และติดตามผู้มีความเสี่ยงในพื้นที่ ถือเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง อสม. หลายคนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน ดังนั้น การให้กำลังใจ อสม. จึงสำคัญ
 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า นอกจากนี้ อสม. ยังรับหน้าที่เป็นด่านหน้าคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยง 14 ล้านครัวเรือน และติดตามกลุ่มเสี่ยงอีก 1 ล้านคน ดังนั้น กระทรวงจึงเห็นว่า ควรให้ อสม. ได้รับค่าตอบแทนเยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย จำนวน 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงกันยายน 2564 ตามระยะเวลาของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกหนังสือชี้แจงหลังจากที่มีข่าวการตัดเงินช่วยเหลือ อสม. จาก 19 เดือนเหลือเพียง 7 เดือนว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เห็นว่า อสม. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละมาโดยตลอด และสมควรที่จะได้รับเงินเพิ่ม 500 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีลงมติว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับการปฏิบัติงานช่วงโควิด-19 มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงินพิเศษระยะแรกไว้ที่เดือนกันยายน 2563

นอกจากนี้ งบประมาณที่ขอมานั้นอยู่ที่ 51,985 ล้านบาท ซึ่งเกินกรอบวงเงินของ พ.ร.ก.กู้เงิน 6,985 ล้านบาท และพอมาดูส่วนงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ อสม. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 - กันยายน 2563 มีมูลค่า 10,019.9255 ล้านบาท

 

สภาพัฒน์ แจงเหตุตัดงบ อสม. 500 บาท 19 เดือน แม้ทำงานหนักช่วงโควิด 19

 

ฉะนั้น คณะกรรมการฯ จึงยึดหลักการดังกล่าว และมีมติว่า "จ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือนให้แก่ อสม. และ อสส. รวมไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน"

ทว่า หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า สถานการณ์ระบาดมีแนวโน้มจะเกิดความเสี่ยง ให้รีบนำเสนอเหตุผลตามความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษต่อไป