เปิดตัวเลข สถิติอุบัติเหตุบนจุดตัดทางรถไฟ

เปิดตัวเลข สถิติอุบัติเหตุบนจุดตัดทางรถไฟ

จากกรณีอุบัติเหตุครั้งรุนแรง รถไฟชนรถบัสโดยสารที่กำลังไปงานบุญทอดกฐิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 20 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 30 ราย ในพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น นับเป็นอีกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ และเป็นจุดตัดที่ไม่มีเครื่องกั้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ระบุว่า จุดตัดทางรถไฟที่พบเห็นในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ จุดตัดทางรถไฟแบบต่างระดับ, จุดตัดทางรถไฟแบบมีเครื่องกั้น, จุดตัดทางรถไฟแบบควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจร ซึ่งหมายถึงไม่มีเครื่องกั้น แต่การรถไฟฯได้สำรวจและติดตั้งเครื่องหมายการจราจรแล้ว และสุดท้ายคือจุดตัดทางรถไฟที่เป็น "ทางลักผ่าน" 

เว็บชาวข่าวเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่า จุดตัดทางรถไฟแบบมีเครื่องกั้น เป็นจุดที่ทางรถไฟตัดผ่านบนทางหลวงหรือถนนนอกเมืองที่ห่างจากชุมชน ซึ่งการรถไฟฯได้พยายามสำรวจแะติดตั้งระบบป้องกันอุบัติเหตุ แต่ยังไม่สามารถทำให้ครบทุกจุด จึงยังคงมีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ส่วน "ทางลักผ่าน" คือ ทางตัดผ่านทางรถไฟที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชน หรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ผู้ทำทางตัดผ่านอาจเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการถไฟฯ ทำให้ไม่มีระบบการควบคุมความปลอดภัยใดๆ เลย แม้แต่ป้ายแจ้งเตือน 

สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเก็บรวบรวมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ในห้วงเวลา 10 ปี คือปี 2550-2560 ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟมากกว่า 100 ครั้งต่อปี สูงสุดคือ 165 ครั้ง ในปี 2551 โดยร้อยละ 87 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้น ทว่านับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการควบคุมความปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ทำให้จำนวนอุบัติเหตุลดลงเหลือต่ำกว่า 100 ครั้งต่อปี และเริ่มมีโครงการก่อสร้างสะพานหรือทางลอดบริเวณจุดตัดทางรถไฟมากขึ้นในช่วงหลัง 

สำหรับโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ ณ ปี 2562 มีทั้งสิ้น 4,043 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 47 จังหวัด มีจุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาต 1,981 แห่ง และจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือทางลักผ่าน 676 แห่ง รวมทั้งสิ้น 2,657 แห่ง 

นายแพทย์ ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า อุบัติเหตุครั้งรุนแรงที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 ประการที่ต้องเร่งค้นหาความจริงและแก้ไขเป็นการด่วน คือ 1. เป็นอีกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่มีอยู่ทั่วประเทศ และรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข 2. ผู้โดยสารบนรถบัสมีราวๆ 50-60 คน น่าจะถือว่าบรรทุกคนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และน่าจะไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัย 3. ความพร้อมของคนขับ เพราะเกิดอุบัติเหตุตอนเช้า น่าจะออกเดินทางมาตั้งแต่เช้ามืด และถ้าเหมารถบัสมาจากต่างพื้นที่ คนขับอาจจะต้องขับมาตั้งแต่ช่วงดึกของคืนที่ผ่านมาเพื่อมารับผู้โดยสาร ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้จะต้องเร่งตรวจสอบเพื่อวางแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ซ้ำอีก