นักวิจัยสหรัฐค้นพบ กระจกตา ต้านทานการติดเชื้อของโควิด-19 ได้

นักวิจัยสหรัฐค้นพบ กระจกตา ต้านทานการติดเชื้อของโควิด-19 ได้

รายงานข่าวจากซินหัวระบุ งานวิจัยโดยคณะวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (WUSTL) ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่ากระจกตาสามารถต้านทานต่อการติดเชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อกระจกตาของมนุษย์และหนูก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าไวรัสซิกา (Zika) ถูกหลั่งออกมาในน้ำตาได้ และ คณะวิจัยต้องการศึกษาว่าโควิด-19 จะสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระจกตาได้หรือไม่ พวกเขาจึงได้ดำเนินการทดสอบโดยนำเนื้อเยื่อตาไปสัมผัสกับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ พร้อมสังเกตว่าไวรัสเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน พวกเขายังสามารถระบุสารสำคัญในเนื้อเยื่อกระจกตาที่สามารถเสริมสร้างหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้อีกด้วย

โดยหนึ่งในสารยับยั้งที่พวกเขาระบุได้มีชื่อเรียกว่า “อินเตอร์เฟอรอน แลมดา” (interferon lambda) ซึ่งพวกเขาพบว่าสารยับยั้งตัวนี้สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของไวรัสซิกาและไวรัสเริมในกระจกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับโรคโควิด-19 แล้ว ระดับของสารนี้ไม่มีผลต่อการขยายพันธุ์ของไวรัส เนื่องจากไวรัสไม่สามารถสร้างฐานที่มั่นคงได้ไม่ว่าจะมีอินเตอร์เฟอรอน แลมดาอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม

ผลการวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่าโรคโควิด-19 อาจไม่สามารถถูกส่งผ่านได้ในการปลูกถ่ายกระจกตา หรือขั้นตอนอื่นๆ ที่คล้ายกันในดวงตา

“ข้อมูลของเราชี้ให้เห็นว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะไม่สามารถทะลุผ่านกระจกตาได้” ราเจนดรา เอส. อัปเต ศาสตราจารย์ภาควิชาจักษุวิทยาและทัศนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าว อย่างไรก็ดีเนื่องจากเรายังไม่ได้วิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับท่อน้ำตาและเยื่อบุตา เราจึงยังไม่ควรละทิ้งความสำคัญของการป้องกันดวงตา

“สิ่งสำคัญคือเราต้องคำถึงถึงสิ่งที่ไวรัสสามารถทำได้ และปรับใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสม” โจนาธาน เจ. ไมเนอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จุลชีววิทยาโมเลกุล และพยาธิวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยากล่าว พร้อมเสริมว่า “เราอาจจะได้ข้อมูลแล้วว่าผ้าปิดตานั้นไม่จำเป็นสำหรับการป้องกันการติดเชื้อในชุมชนทั่วไป แต่งานวิจัยของเราเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราจำเป็นต้องทำการศึกษาทางคลินิกในปริมาณมากขึ้น เพื่อช่วยให้เราเข้าใจช่องทางที่อาจเป็นจุดรับเชื้อไวรัสให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงดวงตาด้วย”

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส (Cell Reports) เมื่อวันอังคาร (3 พ.ย.) ที่ผ่านมา