บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

            13 ต.ค.2559 เป็นวันแห่งความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต นำความเศร้าโศกเสียใจนำมาสู่ประชาชนชาวไทย จนผ่านมาแล้ว 1 ปี ในวันที่ 26 ต.ค.2560 วันที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2470 และ เสด็จสวรรคต 13 ต.ค.  2559 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2489 เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

            พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นมีมากมาย ในศาสตร์ทุกแขนง โดยเฉพาะในด้านกีฬา   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการยกย่องในฐานะ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา”  ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่นานาประเทศทั่วโลกต่างก็ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านกีฬา ทรงมี “กีฬา” อยู่ในพระราชหฤทัยและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อวงการกีฬาไทยเป็นล้นพ้น

 

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

 

             ด้วยความสนพระราชหฤทัยในกีฬา พระองค์ทรงกีฬาหลากหลายประเภทตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดั่งปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ และบันทึกถึงการทรงสกี เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงปี พ.ศ.2477-2478 ขณะมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา       

            นอกจากนั้น ยังทรงกีฬาอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สกีน้ำ, ว่ายน้ำ, เรือกรรเชียง, เรือพาย, แบดมินตัน, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก และเครื่องร่อน เป็นต้น กีฬาที่ทรงเล่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้พระกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้รอบตัว เทคนิค ไหวพริบ และความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นองค์ประกอบ

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธ.ค. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา ซึ่งพระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2510

 

            บรรยากาศในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 หรือกีฬาซีเกมส์ ในปัจจุบันนั้น กีฬาเรือใบแข่งขันทั้งสิ้น 3 วัน วันละ 2 เที่ยว ตั้งแต่วันที่11-13 ธ.ค.2510 ที่อ่าวพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงเรือใบเวคา 2 หมายเลขใบเรือ TH 27 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงเรือใบเวคา 1 เข้าแข่งขันเรือใบในประเภทโอเค ดิงกี้

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

            ในวันสุดท้าย 13 ธ.ค. 2510 เมื่อครบ 6 เที่ยว รวมคะแนนออกมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงมีคะแนนเท่ากัน เสีย 6 คะแนน ชนะเลิศได้เหรียญทอง โดยมีลาซารี ชาวมาเลเซีย อันดับ 2 เสีย 32.4 คะแนน และอันดับ 3 ยัน ขิ่น จากพม่า เสีย 35.4 คะแนน สำหรับพิธีทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัลผู้ชนะเลิศกีฬาเรือใบประเภทโอเค ดิงกี้ มีขึ้นที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.2510 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2529 เห็นชอบให้กำหนดวันที่ 16 ธ.ค.ของทุกปีเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” มาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างหลายรุ่น เนื่องจากมีฝีพระหัตถ์ในงานช่างไม้อยู่แล้ว และไม่โปรดซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง จึงทรงริเริ่มต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง โดยมีอู่ต่อเรือ และสระทดลองเล่นเรือในสวนจิตรลดา ในปี 2508 ทรงต่อเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพรซ์ 2 ลำ ลำแรกชื่อพระราชทานว่า “ราชปะแตน” และได้รับหมายเลขแสดงบนใบเรือ E 11111จากสมาคมเรือประเภทเอนเตอร์ไพรซ์เป็นพิเศษ ลำที่สองชื่อ “เอจี” ต่อมาทรงตั้งหมวดเรือใบหลวงจิตรลดาขึ้น เพื่อจัดการแข่งขันเรือใบเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากหาดพัทยาไปที่อ่าวด้านเหนือของเกาะล้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกัปตันเรือนำเรือ “ราชปะแตน” ลงแข่งขัน ชนะเลิศได้ที่ 1 หลังทรงเรือในประเภทเอ็นเตอร์ไพรซ์ไปได้ระยะหนึ่ง พระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัยมาแล่นเรือใบ ประเภทโอเค ทรงต่อเรือใบประเภทโอเคลำแรก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” เลขหมาย TH 9 อยู่บนใบสีแดง ทรงเป็นแชมป์ประเทศไทยประเภทเรือโอเค รวม 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังทรงต่อเรือประเภทโอเคอีกหลายลำ และพระราชทานชื่อว่า “เวคา” ซึ่งมีเวคา 1, 2 และ 3 ตามมา

            นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคิดค้นออกแบบและต่อเรือใบประเภทม็อธ (Moth) จำนวนหลายลำ ระหว่างปีพ.ศ.2509-2510 ซึ่งพระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมดถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พ.ค. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ เมื่อปี 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13

            สำหรับกีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งที่พระองค์ทรงชื่นชอบ ทรงเล่นเป็นประจำ มีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงหลายคนในสมัยนั้น ได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมเล่นที่สนามกีฬาแบดมินตันในสวนจิตรลดา หนึ่งในจำนวนนั้นมีอดีตแชมป์โลกชาวสิงคโปร์ หว่อง เป็ง สูน เข้าร่วมเล่นด้วย

             ซึ่งกีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดปรานและทรงติดทีมชาติในซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ทรงได้เหรียญทองประเภททีมหญิง ด้วย ล่าสุด ทรง พระปรีชาสามารถ นำทัพนักกีฬาขี่ม้าไทย คว้าเหรียญเงินจากประเภทศิลปะการบังคับม้า ประเภททีม ในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย

            นอกจากทรงร่วมเล่นกีฬาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น วิ่งเหยาะ และเดินเร็ว ทรงออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ มีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิต ทั้งก่อนและหลังทรงออกกำลังพระวรกาย ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตร

            ด้วยประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถและความรอบรู้ สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม ครั้งที่ 195 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2534 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2534

 

 

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการกีฬาไทยอย่างมากมาย ในทุกบริบท พระราชทานไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาสำคัญๆมาอย่างยาวนาน พระราชทานพระบรมราช วโรกาสให้คณะนักกีฬาไทยเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะนักกีฬาก่อนไปแข่งขัน อันเป็นพลังใจที่ยิ่งใหญ่ของนักกีฬาทุกคน รวมถึงพระราชทานกำลังใจ พระราชทานความห่วงใยให้แก่นักกีฬาไทยที่ไปทำหน้าที่ในเกมต่างๆ เสมอมา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ และทอดพระเนตรนักกีฬาไทยลงชิงชัยหลายครั้ง

 

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

บันทึกไว้ในความทรงจำ ในหลวง ร.9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา

         

             ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้มีมติเอกฉันท์ในการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 92 ที่ประเทศตุรกี ให้ทูลเกล้าฯถวายอิสริยาภรณ์โอลิมปิกขั้นสูงสุด (ทอง) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2530 ที่ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับพระเกียรติดังกล่าว

            นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2543 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยังได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “ลาลาลูนีส คัพ” ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2539 เพื่อเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในการเชิดชูและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่เคยเป็นนักกีฬาดีเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งต่อสังคมโลก ซึ่งยังไม่เคยมอบแก่ผู้ใดมาก่อน โดยนายฮวน อันโตนิโอ ซามารานซ์ ประธาน ไอโอซีขณะนั้นนำคณะเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายรางวัล “ลาลาลูนีส คัพ” เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2543 ที่ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

            ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการกีฬาไทยเป็นล้นพ้นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และสิริมงคล แก่นักกีฬาทีมชาติที่สร้างชื่อเสียงเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ อาทิ กีฬาซีเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวงการกีฬาเป็นประจำทุกปี

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานทุนแก่นักกีฬาจากกองทุนโดยเสด็จพระราชกุศล อาทิ ทุนมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันมวย โดยเสด็จพระราชกุศล ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการแข่งขัน พระราชทานทุนแก่นักกีฬาที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดังที่ ศ.เจริญ วรรธนะสิน นักแบดมินตันรองแชมป์โลกชายเดี่ยว ออลอิงแลนด์ 2 สมัย ได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เป็นต้น

            การได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสิ่งที่นักกีฬาไทยทุกคนปรารถนา ดั่งเช่นเหล่าฮีโร่โอลิมปิก ในปีต่างๆ เช่น สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวย, “น้องอร” อุดมพร พลศักดิ์, “น้องไก่” ปวีณา ทองสุก และ “น้องวิว” เยาวภา บุรพลชัย และ มนัส บุญจำนง นักมวย ที่ต่างน้อมนำพระราชดำรัสมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

            นอกจากนี้ ในวงการกีฬานั้นมีหลายสมาคมกีฬาฯ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้หลายๆ สมาคมกีฬาฯ ทั้งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ทุกๆ คน ต่างมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “พระมหากษัตริย์นักกีฬา” จะทรงอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน นี่คือ พระมหากษัตริย์นักกีฬาของประเทศไทย ที่ทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี

 

                                    ลิตเติ้ลพี