ที่มาคำว่า ยุบหนอ - พองหนอ ขณะฝึกจิตทำสมาธิ ฝึกกรรมฐาน แท้จริงแล้วมาจาก วิชากรรมฐานโบราณเมื่อหลายร้อยปีก่อน

เมื่อเราได้เข้าอบรมสมาธิ โดยมีวิทยากรไม่ว่าพระภิกษุหรือฆราวาสด้วยกัน จะเป็นผู้นำในการเข้าปฏิบัติสมาธิ การสอนโดยเบื้องต้น คือให้นั่งขัดสมาธิ หลับตา และภาวนา บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำภาวนา “ยุบหนอ – พองหนอ” โดยเมื่อสูดลมหายใจเข้าออกที่สะดือ ตรงที่ท้องมันพอง ให้กำหนดในใจว่า พองหนอ พออาการท้องมันยุบ ให้กำหนดภาวนา  ยุบหนอ  แล้วท่านสงสัยไหมว่า คำๆนี้ มีที่มาจากที่ใด ??

เณรน้อย

ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ

ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะเจ้า สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรีได้เล่าไว้ ในเรื่อง “วิปัสสนาวงศ์” เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 หรือแบบ “พองหนอ-ยุบหนอ” มีหลักฐานยืนยันว่าการปฏิบัติแบบนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาลในราวพุทธศักราช 235 มีอรหันต์องค์หนึ่งนามว่า พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 1,000 รูป ได้ร่วมกระทำตติยาสังคายนา ที่เมืองปาฏลีบุตร เมืองหลวงของแคว้นมคธ โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นศาสนูปถัมภก หลังจากเสร็จสิ้นในการทำสังคายนาครั้งที่สามแล้ว

ท่านได้ส่งสาวกที่เป็นพระอรหันต์นำพระพุทธศาสนาไปเผยแพร่และประดิษฐานยังที่ต่าง ๆ รวม 9 สายด้วยกัน ในแคว้นสุวรรณภูมิมีพระโสณะอรหันต์ และพระอุตตระอรหันต์ นำพระพุทธศาสนามา ประดิษฐานที่เมืองตะโทง (Thaton) หรือสุธรรมนครในประเทศสหภาพพม่า ตามประวัติได้มีการ สืบทอดวิปัสสนาวงศ์พระอรหันต์เรื่อยมาไม่ขาดสาย

จนถึงสมัยของวิปัสสนาจารย์ติรงคะ สะยาดอ พระมโน อรหันต์ พระมิงกุลโตญ สะยาดอ และพระมิงกุล เชตวัน สยาดอ ตามลำดับพระอาจารย์มิงกุล เชตวัน สะยาดอ หรือภัททันตะนารทเถระแห่งเมืองมะละแหม่ง เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากในการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 จนกิตติศัพท์ของท่านขจรไปไกลในประเทศสหภาพพม่า

พระอาจารย์มหาสีสะยาดอ
สมัยนั้นสานุศิษย์ของท่านผู้หนึ่งที่มีคนรู้จักกันดีทั่วไปในวงการพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือ พระอาจารย์มหาสีสะยาดอ หรือ ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาสี และเจ้าสำนักสาสนยิตตา ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในเมืองย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ ผู้เป็นสานุศิษย์องค์หนึ่งของพระอาจารย์มหาสีสะยาดอ ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่าพระอาจารย์มิงกุล เชตวัน สะยาดอ มีความสามารถในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างช่ำชอง ท่านสามารถกำหนดสติได้ ทั้งที่ปลายจมูก โดยสังเกตการกระทบของลมหายใจเข้าออกที่บริเวณนี้ (แบบอานาปานปัพพะ คือ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก) และที่บริเวณท้องโดยสังเกตอาการพองและอาการยุบ (แบบธาตุมนสิการปัพพะ)

การเผยแพร่วิปัสสนาแบบพองหนอยุบหนอ


เมื่อพระอาจารย์มหาสี สะยาดอ ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับท่านได้พิจารณาดูอย่างรอบคอบกลับมีความเห็นว่า การกำหนดสติที่บริเวณท้องทำได้ง่ายกว่า และได้ผลดีกว่าด้วยโดยปกติลมหายใจเข้า-ออก เป็นรูปที่ละเอียดอ่อน เป็นอารมณ์ของกรรมฐานที่กำหนดได้ยาก เมื่อวิริยะ (ความเพียร) สติ (ความระลึกได้) สมาธิ (ความตั้งมั่นแห่งจิต) และสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) มีพลังมากขึ้น ลมหายใจจะค่อย ๆ ละเอียดอ่อนและเบาลง ๆ จนดูเหมือนว่าจะหยุดหายใจ ในสถานการณ์เช่นนี้ โยคีบางคนหาที่กำหนดไม่ได้ ทำให้จิตฟุ้งซ่านและซัดส่าย

แม้ว่าอานาปานสติจะเป็นยอดของกรรมฐานทั้งหมด แต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้กล่าวไว้ว่า “ก็อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นของยาก อบรมได้ยาก เป็นภูมิแห่งมนสิการของผู้เป็นมหาบุรุษเท่านั้นกล่าวคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรทั้งหลาย”

ส่วนการกำหนดสติที่บริเวณท้องโดยสังเกตการเคลื่อนไหวของท้อง ซึ่งเกิดจากอำนาจของธาตุลมทำให้สะดวกกว่าเพราะว่าวาโยโผฏฐัพพรูป หรือรูปที่ลมถูกต้อง เป็นรูปที่หยาบกว่ารูปอันเกิดจากการสัมผัสของลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก นอกจากนั้นคนสมัยนี้ไม่ละเอียดอ่อนเหมือนคนสมัยก่อน

ดังนั้นการกำหนดสติที่บริเวณท้องจึงเหมาะสมกว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เมื่อเริ่มมีการสอนวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์มหาสี สะยาดอ จึงแนะนำให้โยคีทุกคนกำหนดสติไว้ที่หน้าท้องบริเวณสะดือ และพยายามสังเกตอาการพอง-อาการยุบ พร้อมกับการกำหนดในใจว่า “พองหนอ-ยุบหนอ”

ในช่วงเวลานี้หลายคนมีความเห็นขัดแย้งกับแนวการสอนแบบนี้อย่างรุนแรง เขาเหล่านี้คิดว่าเป็นวิธีการสอนวิปัสสนากรรมฐานแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้น โดยพระอาจารย์มหาสี สะยาดอ เป็นคำสอนที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือมิใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ชัดว่าวิธีการสอนแบบนี้มีมาตั้งแต่โบราณกาลเป็นแนวปฏิบัติที่นิยมแพร่หลายในประเทศสหภาพพม่าเป็นระยะเวลานานก่อนที่พระอาจารย์มหาสี สะยาดอ จะนำมาใช้สอนโยคีผู้เป็นศิษย์

ฉะนั้น การกำหนดในใจว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” ที่บริเวณท้องคือการสังเกตธาตุลม (วาโยธาตุ) ที่มีสภาวะลักษณะคือการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน เป็นแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา กรรมฐานที่สอดคล้องกับหลักคำสอนในมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ว่าด้วยการมีสติตามดูกาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณากายโดยความเป็นธาตุทั้ง 4 (ธาตุมนสิการปัพพะ) อาการพอง-อาการยุบ คือรูปที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสของธาตุลมนี้เรียกว่า วาโยโผฏฐัพพรูป เป็นรูปปรมัตถ์ที่มีลักษณะของวาโยธาตุชัดเจนคือการเคลื่อนไหว
 

การเผยแพร่ ยุบหนอ พองหนอ ในประเทศไทย

พระพิมลธรรม

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) หรือ “พระพิมลธรรม” ในสมัยนั้น จึงได้ส่ง “ศิษย์เอก” ท่านหนึ่งของท่าน คือ” พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ” เปรียญธรรม 9 ประโยค (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สูงขึ้นมาเรื่อยๆจนที่สุดได้เป็นที่”พระเทพสิทธิมุนี” พระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังกลางกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา ซึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่ง ให้ไปเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่”สำนักวิปัสสนาสาสนยิตสา” ที่ฯพณฯ อูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าในสมัยนั้นได้สร้างขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง โดยได้ฝากให้อยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์โสภณมหาเถระ หรือ”ท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์” ซึ่งเป็นเจ้าสำนักใหญ่อยู่ในขณะนั้น ซึ่งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ก็ได้ตั้งใจเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมอย่างดียิ่ง โดยท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ ก็ได้มอบหมายให้

 

“พระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ” ศิษย์เอกของท่านซึ่ง “บรรลุธรรม” มาแต่ก่อนเรียบร้อยแล้ว คอย “ดูแล” และ “สอบอารมณ์” ท่านพระมหาโชดก แทนท่านซึ่งมีภารกิจแห่งความเป็นเจ้าสำนักมากมาย ทำให้ไม่อาจจะมาคอยควบคุมและสอบอารมณ์พระกรรมฐานได้ทุกวัน ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ จึงได้เป็นเสมือนหนึ่งเป็น “พระพี่เลี้ยง” ในท่านเจ้าคุณ “พระเทพสิทธิมุนี” หรือ “พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ” ไปโดยปริยาย

 

 

           จำเนียรกาลแห่งการปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานในสำนักสาสยิตสาของพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิผ่านไปเพียง 3 เดือน ท่านพระมหาโชดกก็ได้”สำเร็จวิปัสสนา”สมดังความมุ่งหมาย เป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง ท่านพระมหาโชดกจึงเตรียมเดินทางกลับมายังประเทศไทย ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมจึงได้ทำเรื่องไปยัง”สภาการพระพุทธศาสนาแห่งพม่า”ขอให้ส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญมาสอนวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทยด้วย ซึ่งทางสภาการพระพุทธศาสนาก็ได้มอบหมายให้ท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์เป็นผู้คัดเลือก ผลก็ปรากฏว่า ท่านได้เจาะจงเลือก”พระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ”ให้รับภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ โดยสั่งกำชับไว้ด้วยว่า “จงอย่าขัดข้องหรือปฏิเสธเลย” ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ผู้ทรงภูมิรู้แห่งวิปัสสนาวิธีจากลุ่มแม่น้ำอิระวดี จึงมีอันได้เดินทางจากปิตุภาค มาตุภูมิเดิม มาเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานอยู่ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2596 เป็นต้นมา

 

สำหรับสาเหตุที่ต้องออกเสียงว่า ...หนอ ในข้างท้าย ก็เพราะว่า

กิริยาในภาษาพม่านั้นจะต้องมีคำบ่งให้รู้กาลเสมอ ต่างจากภาษาไทยที่ไม่ต้องมีคำบ่งกาล เช่น เขาไปบ้าน แต่พม่าต้องบอกว่า เขาไปบ้านอยู่ โดยคำว่า "อยู่" บ่งปัจจุบันกาล ( แล้ว และ จะ บ่งอดีตกาล และอนาคตกาลตามลำดับเช่นกัน) ดูคำพม่าครับ

သူသွားတယ် เขาไปบ้านอยู่ิ
သူသွားပြီ เขาไปบ้านแล้ว
သူသွားမယ် เขาจะไปบ้าน

นักภาษาศาสตร์เรียก -တယ် , -ပြီ , မယ် ว่าเป็นวิภัตติ

คำว่ายุบ กับพองเมื่อเขียนในภาษาพม่าจะได้คำว่า

ยุบหนอ = ပိန်းတယ် เบงแด่ ออกเสียงไวยากรณ์ เบงแหน่
พองหนอ = ဖောင်းတယ် พองแด่ ออกเสียงตามไวยากรณ์ พองแหน่

กฏข้อที่หนึ่งต้องประกอบด้วยกาลปัจจุบัน တယ်
ทำไม แด่ จึงออกเสียงเป็นแหน่ ได้หล่ะหนอ
ท่านว่า ถ้าข้างหน้าเป็น ง งู ให้ออกเสียง เป็น
ท่านว่า ถ้าข้างหน้าเป็น ให้ออกเสียง เป็น

ฉะนั้น တယ် จึงมีเสียงเป็นแหน่ ด้วยกฏทั้งสองข้อข้างต้นนั้น

ครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐานในพม่า เมื่อออกเสียงแหน่ ๆ ๆ .. ท่านสมเด็จวัดมหาธาตุ จึงได้บัญญัติคำ จากแหน่ เป็น หนอ หนอ ให้เหมาะสมกับคนไทย

คำถาม-คำตอบ

             ก็เมื่อท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ได้เดินทางมาบอกพระกรรมฐานที่ประเทศไทยเป็นการถาวร ท่านก็ได้ร่วมกับพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ทำการเผยแพร่วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  ซึ่งก็ได้มีพระภิกษุสามเณรตลอดจนบุคคลทุกระดับชั้น ทุกสาขาวิชาชีพ สนใจศรัทธามาขอเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่”ปรากฏผล”และ”บรรลุธรรม”จากการปฏิบัติแนวทางที่ถูกต้องนี้ตามควรแก่บุรพวาสนาแห่งตนมากมาย
ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณสูงส่งและโดดเด่นเป็นพิเศษ ก็มีอาทิเช่น

            พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัล ) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี พระวิปัสสนาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนี้ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระพุทธศาสนามากมาย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีผู้มาขอสัมภาษณ์ท่านเรื่องการภาวนายุบหนอ พองหนอเอาไว้ ดังนี้ ..

คำว่า “หนอ” เป็นของพม่าใช่หรือไม่ คนไทยจึงไม่นิยมปฏิบัติ?

(หลวงพ่อจรัญ)ตอบ เรื่องนี้มีคนถามมาก ท่านเจ้าคุณอุดมวิชชาญาณ อธิบายว่า คำว่า “หนอ” ไม่ใช่ของพม่า เป็นคำของพระพุทธเจ้า ชาวมคธรัฐใช้พูดกันเรียกว่า วต ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อญฺญา สิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ หรือ ดังที่พระยสกุลบุตรกล่าวว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ “หนอ” เป็นภาษาไทย แปลมาจากบาลีว่า วต เป็นภาษาธรรม สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ทรงถามว่า ไม่ใช้หนอได้ไหม กำหนดเพียง พอง-ยุบ อย่างเดียวหรือใช้พุทโธได้ไหม ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิบายว่า หนอ หรือ วต สามารถตัดกิเลสได้ เพราะเป็นการยึดเหนี่ยวใจให้อยู่กับสติ จึงใส่หนอไว้ ถ้าไม่ใส่หนอไว้จิตมันไม่ค่อยอยู่ มันวิ่งออกไปข้างนอกมากมาย หมายความว่า เพื่อต้องการให้จิตช้าลง ถ้าไม่มี “หนอ” แล้วกำหนดไม่ได้ มคธที่ว่า หนอ นี้ไม่ได้หมายความ พอทำได้แล้วราคาวิเศษหลายล้านจริง ๆ ผมรับรองได้ “หนอ” นี่แหละเป็นการกระตุ้นเตือนให้จิตเข้าไปผนวกบวกกับสติได้ง่าย ถ้ากำหนดเพียง พอง-ยุบ มีแต่จะทำให้จิตใจร้อนรน “หนอ” เป็นการล้างจิตให้เยือกเย็น โดยมีสติสัมปชัญญะ เป็นการดึงจิตให้อยู่กับที่ได้

 


พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ในบาลีสังยุติการยว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีโยนิโสมนสิการ ตั้งสติ กำหนดที่รูป ถ้ามีสมาธิแล้ว รูปนั้น
อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ย่อมเห็นได้ชัดเจนแน่นอน”

ยังทรงเทศน์อีกว่า “โยคีบุคคลที่โผฏฐัพพารมณ์ถูกต้องสัมผัสนั้นตั้งสติกำหนดรู้เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยงบุคคลนั้นอวิชชาหายไปวิชชาญาณปรากฏ”

ดังนั้น การกำหนด “พองหนอ-ยุบหนอ” จึงเป็นการสังเกตวาโยโผฏฐัพพรูปด้วยโยนิโสมนสิการ อันประกอบด้วยอาตาปีหรือวิริยะ (ความเพียร) สติ (ความระลึกได้) สมาธิ (ความตั้งมั่นแห่งจิต) และสัมปชัญญะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อพลังของปัจจัยดังกล่าวแก่กล้าพอเพียงแล้วผู้ปฏิบัติ (โยคี) จะเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตนของรูปธรรมและนามธรรม มีสัมมาทิฏฐิและวิชชาญาณเกิดขึ้น จนสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาธุๆ!! รวมบทสวดมนต์ก่อนนอน สวดเพื่อหนุนนำให้ชีวิตดีขึ้น จิตใจสงบ มีสมาธิ
- พระธิเบตแสดงปาฏิหาริย์! พิธีกรหนุ่มสุดอึ่ง! เมื่อได้พบกับพระธิเบตองค์หนึ่งกำลังนั่ง สวดมนต์ทำสมาธิ แล้วจู่ๆ สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น(คลิป)

อ้างอิง : vipassanathai.org / เพจเที่ยวพม่า เรียนภาษาพม่า จากป้ายและคำพูด / pantip.com/topic/30587228