"พุท - โธ" ยอดคำภาวนา ที่พึงทำไว้สม่ำเสมอ หลวงปู่มั่นยืนยัน! อานุภาพ "พุท-โธ" ยิ่งใหญ่ ยกระดับจิตใจ ช่วยพาไปเกิดบนสวรรค์

นี่แหละของดี!! "พุท - โธ" ยอดคำภาวนา ที่พึงทำไว้สม่ำเสมอ หลวงปู่มั่นยืนยัน! อานุภาพ "พุท-โธ" ยิ่งใหญ่ ยกระดับจิตใจ ช่วยพาไปเกิดบนสวรรค์

จุดกำเนิดบทภาวนาพุทโธ

;คนไทยเราได้ยินและรู้จักบทภาวนาพุทโธมานาน  แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าบทภาวนานี้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยใด

ส่วนตัวผู้เขียน(พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวัณโณ))เองเริ่มใช้บทภาวนาพุทโธมาตั้งแต่เริ่มบวชเป็นสามเณรใหม่ๆ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพราะวัดสายธรรมยุตทั้งหมดนิยมใช้บทภาวนาพุทโธมาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน (ผู้เขียนเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต)  แต่หลักฐานที่จะยืนยันว่าบูรพาจารย์ท่านสอนสืบเนื่องกันมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นยังไม่ปรากฏชัด

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า  คำว่า “พุทโธ” นี้น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพราะ “พุทโธ” เป็นคำบาลี ซึ่งไม่มีคำไทยปนอยู่เลย

หรือถ้าไม่เกิดในสมัยพุทธกาลก็น่าจะเกิดในประเทศศรีลังกาที่เป็นเสมือนปราการอันมั่นคงของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาหลักในการจารึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ

หรือถ้าไม่เกิดในประเทศศรีลังกาก็คงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน  อาจจะในสมัยที่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วไปมั่นคงอยู่ที่นครศรีธรรมราชเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ. ๑๗๐๐ - ๑๘๐๐)  หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสมัยสุโขทัยตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงอัญเชิญพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชไปประดิษฐานที่สุโขทัย

แต่ที่ยืนยันได้ชัดเจนก็คือ  คำว่า “พุทโธ” นี้เป็นบทภาวนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากหนังสือ “มูลกรรมฐาน” ฉบับใบลานเก่า ซึ่งกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิของพระกรรมฐานในสมัยนั้น เช่น ปีติ ๕ ยุคลธรรม ๖ และสุขสมาธิ

หนังสือ “มูลกรรมฐาน” มีอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหาร สร้างเมื่อจุลศักราช ๑๐๒๓ (พุทธศักราช ๒๒๐๔)  วัดราชาธิวาสวิหารเป็นวัดกรรมฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (ในสมัยที่เป็นวัดกรรมฐานชื่อ “วัดสมอราย”) ซึ่งพระสงฆ์สายธรรมยุตยุคแรกก็ถือกำเนิดขึ้นที่วัดแห่งนี้ จึงเป็นธรรมดาที่พระสงฆ์สายธรรมยุตจะนิยมเจริญกรรมฐานด้วยบทภาวนาพุทโธมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน

บางคนอาจจะคิดว่า การภาวนาพุทโธนี้มีเฉพาะในหมู่พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพียงสายเดียวเท่านั้น

จริงๆ แล้ว การภาวนาพุทโธเป็นวิธีเจริญกรรมฐานที่พระสงฆ์ไทยปฏิบัติกันมานานแล้ว  เป็นแต่เพียงว่าในปัจจุบันนี้มีวิธีเจริญกรรมฐานในแบบของพม่าเข้ามาหลายรูปแบบ จึงทำให้บทภาวนาเปลี่ยนไปจากเดิม  แต่ก็ไม่ใช่ทุกสำนัก  เพราะพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงนิยมใช้บทภาวนาพุทโธในการเจริญกรรมฐานกันอยู่ทั่วไป

การภาวนาพุทโธพร้อมกับการกำหนดลมหายใจ

การภาวนาพุทโธพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเป็นวิธีเจริญกรรมฐานที่พระสงฆ์ไทยนิยมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ  คือเมื่อหายใจเข้าก็ภาวนาว่า “พุท” และเมื่อหายใจออกก็ภาวนาว่า “โธ” ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะมาจากเหตุผล ๕ ประการ คือ

๑. เพราะสร้างศรัทธาให้หนักแน่น จึงทำให้จิตใจสงบได้เร็วขึ้น

๒. เพราะภาวนาง่าย ไม่อึดอัด

๓. เพราะเป็นตัวยึดที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจให้อยู่กับที่ได้ง่าย  เหมือนเด็กที่ได้ของเล่นก็ย่อมเพลิดเพลินอยู่กับของเล่นนั้น หรือเหมือนราวบันไดสำหรับเกาะตอนที่เรายังขึ้นบันไดไม่ชำนาญ

๔. เพราะอานาปานสติ (การกำหนดลมหายใจเข้าออก) มีผลมาก มีอานิสงส์มาก  สามารถใช้ได้ทั้งในขั้นสมถะและวิปัสสนา  ยิ่งเมื่อนำเอาพุทโธเข้ามาภาวนาควบคู่กัน  พลังแห่ง “พุทธานุสติ” กับ “อานาปานสติ” ที่ผนวกกันก็ยิ่งทำให้จิตใจสงบมากขึ้น

๕. เพราะเมื่อภาวนาพุทโธไปได้สักระยะหนึ่ง คำว่า “พุทโธ” ที่ผู้ภาวนายึดเหนี่ยวเป็นอารมณ์จะค่อยๆ หายไป จนกระทั่งเหลือแต่การกำหนดลมหายใจเป็นหลัก  คล้ายๆ กับว่า “พุทโธ” เป็นเพียงสิ่งเบิกทางให้จิตทำงานได้คล่องเท่านั้น  เพราะในความเป็นจริง การภาวนา “พุท” เมื่อหายใจเข้า และภาวนา “โธ” เมื่อหายใจออก ก็คือ “อานาปานสติ” นั่นเอง

อานุภาพของบทภาวนาพุทโธ

“พุทโธ” เป็นบทภาวนาที่นิยมกันมากในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน (แม้จะไม่ได้ถือปฏิบัติกันทุกสำนักก็ตาม) เพราะภาวนาแล้วก่อให้เกิดอานุภาพต่างๆ มากมาย  เช่น  ทำให้จิตใจสงบ เป็นสมาธิ หรือแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ

บางคนนอนทำสมาธิภาวนาจนกระทั่งหลับไปกับพุทโธ  หรือแม้แต่ในเวลาป่วยหนักใกล้ตาย นักปฏิบัติกรรมฐานส่วนใหญ่ก็ไม่ทิ้งบทภาวนาพุทโธ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้จิตยึดเหนี่ยวอารมณ์ที่เป็นกุศลไว้ได้ตลอดเวลา  แม้ตายก็ย่อมไปสู่สุคติ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ...

“จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา

จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา”

“เมื่อจิตเศร้าหมองเสียแล้ว ทุคติก็เป็นอันหวังได้เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง (ผ่องใส) สุคติก็เป็นอันหวังได้”

(มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๙๒.)

ชาวพุทธทั่วไปจึงนิยมใช้บทภาวนาพุทโธในโอกาสและสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาใกล้ตาย) เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ จิตใจจะได้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

อนุภาพของพุทโธนั้นหลวงปู่มั่นเล่าว่า ...“มีพระภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่งมรณภาพด้วยโรคท้องร่วงอย่างกะทันหัน ท่านภาวนาพุทโธ พุทโธ แม้ขณะมรณภาพก็ภาวนาพุทโธอยู่ หลวงปู่มั่นตามดูจิตของพระภิกษุรูปนั้น ทราบว่าไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”

หลวงพ่อฤาษีลิงดำเล่าว่า ... "ก่อนภาวนา ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนถือเป็นพุทธานุสสติ เวลาภาวนาจะใช้เวลาไหนบ้างก็ตามชอบ ใจถ้าเวลาอื่นไม่มี ก็นอนอย่าลืม ถ้าศีรษะถึงหมอน ภาวนาพุทโธทันที นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราชอบคิด ว่าองค์นี้คือ พระพุทธเจ้า แล้วก็ภาวนา อาจจะภาวนา "พุทโธ" หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" สัก 2-3 ครั้งก็ ได้ตามความพอใจมากก็ได้น้อยก็ได้แล้วก็หลับไป พอตื่นขึ้นมาใหม่ๆ ก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอีกแล้วก็ภาวนาว่า "พุทโธ" อีก ทำอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั่งวันไหน ถ้าเราไม่มีโอกาสจะทำ วันนั้นรำคาญ ต้องทำเป็นอารมณ์ชิน อย่างนี้ ถือว่า ทรง ฌานในพุทธานุสสติกรรมฐานแล้ว แม้ศีลมันจะขาดมันจะบกพร่องบ้าง ถึงยังไงก็ตาม ตายแล้วต้องไปสวรรค์แน่นอน"

คัดลอก : มหัศจรรย์แห่งพระรัตนตรัย, พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวัณโณ)