เปิดประวัติ "หลวงพ่อคง ฐิติวิริโย" ผู้ที่เป็นเสมือนเทพเจ้าแห่งแก่งกระจาน

หลวงพ่อคง ฐิติวิริโย

 

พระครูถาวรวิริยคุณ หรือ หลวงพ่อคง ฐิติวิริโย ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเขากลิ้ง องค์แรกและองค์ปัจจุบัน

ชื่อเกิดของท่านคือ นายคง แก่นไม้อ่อน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2466 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านบางพลับน้อย ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี

มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน วัยเด็ก ท่านได้ย้ายจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยย้ายมาอยู่กับย่าพลอย และท่านก็เป็นผู้ดูแลด้านการศึกษา อบรมเลี้ยงดูให้เป็นคนดี ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศโรงเรียนนี้จะอยู่ใกล้ ๆ กับ วัดชีประชาอินทร์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เรียนได้ 2 ปี ก็ย้ายออกเนื่องจากญาติของท่านต้องย้ายมารับราชการที่จังหวัดภูเก็ต และย่าพลอยได้ส่งหลวงพ่อท่านไปอยู่ที่วัดปากท่อ จ.ราชบุรี

หลวงพ่อท่านได้เรียนหนังสือที่วัดปากท่อ 3 ปี ต่อมาท่านก็กลับมาอยู่ที่ภูเก็ตกับย่าพลอยเหมือนเดิม แต่ต่อมาคุณยายพลอยได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคอหิวาตกโรค ทำให้ชีวิตของท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีความสุข


ต่อมาปู่ของท่านได้รู้ข่าว จึงได้ลงไปรับท่านขึ้นมาที่ภูเก็ตและดูแลที่ บ้านปากคลองกุ่ม ระหว่างนั้นท่านก็ช่วยปู่ทำนาด้วย ต่อมา 2 ปีให้หลัง ท่านก็ได้เข้าเรียนหนังสือที่ โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุงแห่งนี้ จังหวัดเพชรบุรี จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ต่อมาท่านได้ช่วยคุณปู่ของท่านทำนาต่อ
และท่านได้มาอยู่กับตาผล ซึ่งเป็นผู้ชอบเรียนวิชาอาคมกับอาจารย์ดังๆ มากมาบชอบเล่นวิชาไสยเวทย์ ตาผลจึงมีวิชาอาคมขลังหนังเหนียว คงกระพันชาตรี อาจารย์ผลท่านเป็นเพื่อนกับ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลวงพ่อคงติดตามอาจารย์ผลไปพบหลวงพ่อทองสุขแล้ว และท่านก็ยังให้ความเมตตาหลวงพ่อคงอย่างมาก จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงคิดในใจตลอดว่า อยากจะบวชบ้าง จากนั้นหลวงพ่อทองสุขเลยทำพิธีครอบครูให้ โดยเริ่มสอนการให้เขียนอักขระและยันต์และวิธีการทำตะกรุด ตลอดจนวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคล
เมื่ออายุครบ 21 ปี หลวงพ่อท่านเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา ท่านได้เข้าอุปสมบทในปี พ.ศ. 2487 ณ วัดสนามพราหมณ์ จ.เพชรบุรี โดยมีหลวงพ่อเดช เจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เริ่มศึกษาพระธรรมวินัย จนกระทั่งได้สอบเป็นนักธรรมชั้นตรี เมื่อท่านได้อุปสมบทผ่านไปแล้ว 1 พรรษา ท่านได้สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาสตามเดิม และมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านโงหีบ ต.ท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และได้เจอเนื้อคู่ ท่านได้แต่งงานและมีบุตรด้วยกัน  


ท่านได้ใช้ชีวิตเป็นฆราวาสมาระยะหนึ่ง ท่านก็ได้มีความคิดที่จะกลับไปอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้ท่านมีความตั้งใจเป็นอย่างสูง และท่านได้เข้าอุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 41 ปี ท่านก็ได้มาจำพรรษาอยู่วัดวิบูลย์ประชาสรรค์(วัดท่ากระเทียม) ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จนประชาชนได้รักใคร่และให้ความศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาท่านได้ออกธุดงค์ไปหาที่สงบจนได้จิตสงบถือจิตเมตตา และประสบกับโรคไข้ป่ามากมาย แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อเดินธุดงค์มาจนถึงบ้านตอไม้แห้งซึ่งชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน และพอไปถึงบ้านตอไม้ ประชาชนต่างก็ดีใจ และนิมนต์ให้ท่านปักกลดที่หมู่บ้าน

 

หลวงพ่อคง ฐิติวิริโย

 

    ในเวลากลางคืนได้นั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่ภายในกลด จนเวลาเที่ยงคืนได้เวลาจำวัด ในคืนหนึ่งได้ฝันว่า ตัวท่านเองได้เดินแบกกลดไปในป่าถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งมีช้างเดินตามท่านมาด้วย 3 เชือก ในความฝันท่านเดินข้ามแม่น้ำที่ลึกนั้นได้โดยไม่จม พร้อมกันนั้นช้าง 3 เชือกได้เดินข้ามมาด้วย โดยไม่จมเช่นกัน


จากนั้นท่านได้เดินทางไปกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ พระครูญาณประยุติ (หลวงพ่อเรียน) ท่านได้ทำนายว่า "คุณคง คุณจะทำป่าตรงนั้นให้เป็นวัดขึ้นได้ในอนาคต แม้จะยากแสนยากอย่างไรก็จะประสบผลสำเร็จดุจดังที่คุณได้ข้ามแม่น้ำนั้นมาได้โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ" ส่วนช้างที่ข้ามมาด้วยนั้น คือ บริวารผู้ที่จะให้การสนับสนุนให้สำเร็จ  หลวงพ่อท่านจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์และรับคำอวยพรของอาจารย์ และท่านได้ทำการลงมือสร้างวัดขึ้นมา

 

หลวงพ่อคง ฐิติวิริโย

หลวงพ่อได้สร้างวัดสำนักสงฆ์ และปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ จนท่านสร้างอุโบสถสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2525 แต่ยังไม่ได้ฝังลูกนิมิต ต่อมาทางราชการศาสนาได้ประกาศตั้งวัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 และได้พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2529 โดยหลวงพ่อคงท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดเขากลิ้ง และสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากที่หลวงพ่อท่านได้ทำนุบำรุงศาสนาเป็นเวลานานท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งฐานาจากท่านเจ้าคุณเทพฯ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมณศักดิ์เป็น พระครูถาวรวิริยคุณ และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่กุลบุตรผู้ที่เข้ามาขอบวชในบวรพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

ที่มา : wikipedia.org