เพลง ลาวดวงเดือน หลายคนคงจะเคยได้ฟังได้ยินเเต่คุณจะรู้หรือไม่ว่าเพลงลาวดวงเดือน สร้างจากเรื่องจริงซึ่งเป็นตำนานที่ผ่านมานานในอดีต

"โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง" คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ "ลาวดวงเดือน" เพลงทำนองไทยเดิม ที่ยังคงความดังข้ามกาลเวลา เพลงรักแสนหวานที่พรรณนาถึงความรักของชายหนุ่มที่มีต่อหญิงสาว แต่ใครจะรู้บ้างว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเพลงบทนี้

กลับเป็นเรื่องราวของระทมจากความรักที่ต้องพรากจากผู้เป็นที่รัก ของเจ้าของเพลงนี้เอง...

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

ผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรส  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อท่านจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ท่านได้กลับมาดำเนินงานในประเทศ ตามกระแสรับสั่งของพระบิดาให้ ดูแลเรื่องทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยแต่งตั้งพระองค์เป็น อธิบดีกรมช่างไหม เป็นพระองค์แรก

 

 

เรื่องราวของความรักเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ ครั้งมีชันษาเพียง ๒๑ ปี แล้วพบกับ เจ้าหญิงชมชื่น พระธิดาองค์โตของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ว่ากันว่า เจ้าหญิงชมชื่นซึ่งอายุเพียง ๑๖ ปีนั้น เป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวงประกอบกับความน่ารัก เมื่อองค์ชายได้เห็นเข้า ก็ตะลึงในความงามนั้น เกิดเป็นรักแรกพบ เจ้าหญิงชมชื่นจึงได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นนิ่งนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์

 

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงพระเยาว์

แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน และตามขนบธรรมเนีมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อจะได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ (หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนั้นเจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น) สาเหตุที่เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ปฏิเสธในครั้งนี้ เนื่องเพราะเคยเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มาแล้ว คือ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พระน้องยาเธอใน พระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ ) ได้เสด็จมาปราบปรามพวกยางแดงแถวแม่น้ำสาละวิน จนได้พบรักกับเจ้าหญิงข่ายแก้ว และทรงสู่ขอจากเจ้าทักษิณนิเกตน์(มหายศ)บิดาของเจ้าหญิง แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตในการเสกสมรส ครั้นพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเสด็จกลับกรุงเทพ ก็ไม่ได้พาเจ้าหญิง (ในฐานะภรรยาคนนึง) ลงมาด้วยเพราะมีหม่อมเอมอยู่แล้ว ทำให้เจ้าหญิงข่ายแก้ว กลายเป็น “แม่ร้าง” ที่จะไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้ เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์จึงไม่ปรารถนาให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงได้ทัดทานไว้

 

 

เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ ฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯเองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วโดยผู้ใหญ่จัดหาให้ การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน ไม่มีการติดต่อใดๆกันอีกเลย เพราะเหตุนั้น พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน

จึงเสด็จกลับกรุงเทพด้วยความร้าวรานพระทัย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์

ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แน่นอนว่าสาเหตุที่ผู้ใหญ่ทางพระองค์ชายนั้นไม่ยอมให้มีการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองเหนือเป็นเพราะเรื่องทางการเมือง ในสมัยนั้นหัวเมืองทางเหนือมีสัมพันธ์กับทั้งสยามและพม่า เป็นความสัมพันธ์ที่สยามมองว่ามีเหตุผลเคลือบแคลงและไม่วางใจ ดังนั้นจึงเกิดโศกนาฎกรรมความรักลักษณะนี้อีกหลายครั้งในสมัยนั้น เหตุก็เป็นเพราะการเมืองนั่นเอง จึงเป็นอันว่าความรักของพระองค์ประสบกับความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ

พระองค์จึงทรงระบายความรักความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจของพระองค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ และเป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึง

รำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง เมื่อใดที่พระองค์ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น

 

พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย และลาวดวงเดือนก็เป็นเพลงที่จะขาดไม่ได้ จนตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน

 

หลังจากนั้น ทั้งคู่ ต่างก็ได้อภิเษกสมรสกับผู้อื่น

 

ไม่นาน หลังจากเหตุการณ์แห่งรักได้เพียง ๗ ปี พระองค์ก็สิ้นพระชนษ์

และเจ้าหญิงชมชื่นเอง ก็สิ้นพระชนษ์ ด้วยชันษาเพียง ๒๓ ปีเท่านั้น

 

แม้เรื่องราวความรักจะจบลง ทว่าบทเพลง "ลาวดวงเดือน" ยังคงก้องอยู่ ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ได้สัมผัสกับความรักที่ เจ้าชายสยาม มีต่อ เจ้าหญิงล้านนา ตราบกาลนาน...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-อบอุ่นกับเพลงโปรดของแม่! ร.10 ทรงขับร้องลาวดวงเดือนให้สมเด็จฯฟัง พระราชินีรับสั่งให้พระเทพฯทรงดนตรี ฟ้าหญิงฯ ทรงฟ้อน

-ต้นกำเนิด "มะเมียะ" คำพูดติดปากชาวไทย !!! แท้จริง คือ ตำนานรักแสนเศร้าที่สุด ในประวัติศาสตร์ล้านนา !!!

 

ที่มา : เจ้านายฝ่ายเหนือ