ย้อนเหตุการณ์ พระธาตุพนมล้ม ปี พ.ศ. 2518 บาดแผลจารึกในหัวใจชาวนครพนมไม่ลบเลือน แต่ด้วยพระบารมีของในหลวง ร.9 จึงทำให้มีพระธาตุพนมองค์ใหม่จวบจนปัจจุบัน

พระธาตุพนมล้ม

                หากย้อนไป ๔๐ กว่าปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจชาวนครพนม เป็นอย่างมาก เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลารอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น

               

ภาพสมัยก่อน บันทึกองค์พระธาตุล้ม

               จนกระทั่งวันที่ ๑๑ สิงหาคม ตอนเช้าฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่ กึ่งกลางของด้านตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น ล่วงมาถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุส่วนฐานนั้น อิฐร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่องเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายในแท่งหินทำให้เข้าใจว่า ส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด ครั้นถึงเวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง ๑๑๐ กิโลกรัม           

 

องค์พระธาตุพนมล้ม

              แม้แต่เสียงที่ได้ยินจะเป็นสัญญาณอันตรายเตือนให้รู้ล่วงหน้าว่า องค์พระธาตุพนมอาจะโค่นล้มลงมาเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตามผู้คนผลัดเวียนมาดูกันมาก เฝ้าสังเกตการณ์องค์พระธาตุอย่างใจจดใจจ่อ วิตกวิจารณ์คาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ทุกคนหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์เบื้องหน้า แต่ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดกล้าคิดว่าพระธาตุพนมที่สูงตะหง่านจะโค่นล้ม ทั้งนี้เพราะต่างมีความมั่นใจว่า องค์พระธาตุพนมนี้เป็นปูชนียสถานของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปกปักรักษาถึงจะชำรุดทรุดโทรม ตามกาลเวลา แต่ก็คงสามารถซ่อมแซมให้ดีขึ้นดังเดิมได้

 

องค์พระธาตุล้มแล้ว

            สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุพนม จึงเป็นสาเหตุสร้างสมมากกว่า เหตุที่เกิดขึ้นในทันทันใด อาการพังทลายไม่ได้ทรุดที่ฐาน หากเริ่มจากยอดที่เป็นน้ำหนักในแนวดิ่งที่หนักมาก มากดคอบัวฐานชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ต่อจากนั้นอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อยๆ ทลายลงเป็นแถบๆ ยอดเจดีย์กด พุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อนๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก แตกหักออกเป็นท่อน มีลักษณะเป็น ๓ ตอน คือ

 

พระธาตุพนมล้ม จ.นครพนม

ตอนที่ ๑ คือฐานชั้นล่างที่ก่อด้วยอิฐแดงจำหลักลวดลายสูง ๘ เมตร คือดอนที่เก่าที่สุด สร้างด้วยอิฐเรียงสอด้วยวัตถุเหนียวแตกทับตัวเอง หลุดร่วงและล้มเป็นกองเศษอิฐแตกกระจายออกทั้ง ๔ ด้าน พูนขึ้นเป็นกองอิฐขนาดใหญ่

ตอนที่ ๒ ระหว่างเรือนธาตุชั้นที่ ๒ กับฐานบัลลังก์เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะในภายหลังแตกออกเป็น ๒ ท่อน ท่อนล่างละเอียดหมด ท่อนบนยังดีอยู่ ล้มกองไปตามทางทิศตะวันออก

ตอนที่ ๓ คือส่วนยอดที่สร้างครอบยอดเดิมไว้เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กยาวประมาณ ๒๐ เมตร (ความสูงใหญ่ ๑๐ เมตร ระยะของความสูงเดิมจากฐานบัลลังก์ขึ้นไป) หักล้มไปทางทิศตะวันออก ทับศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาแหลกละเอียด และหอพระแก้วราบทะลายลงไปทั้งสองหลังเฉพาะหอพระแก้วเหลือแต่เพียงมุขด้านหน้าไว้เท่านั้น ส่วนฉัตรที่ทำด้วยทองคำสวมยอดพระธาตุนั้น เอนปะทะพิงอยู่กับผนังหอพระแก้ว ความเสียหายของฉัตรบุบสลายเพียงเล็กน้อย

 

ในหลวง ร.9 เสด็จ ณ วัดพระธาตุพนม

ในหลวง ร.9 เสร็จบรรจุพระอุรังคธาตุ

           ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเเละสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปบรรจุพระอุรังคธาตุในองค์พระธาตุพนมเมื่อวันที ๒๓ มีนาคม พศ.๒๕๒๒ 

 

ในหลวง ร.9 ทอดพระเนตรความเสียหาย

พระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ

          นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งพระกรุ พระธาตุพนมได้รับการเก็บรักษาไว้ ที่ในพิพิธภัณฑ์ของวัดเป็นพระกรุ พระธาตุพนมสำหรับอนุชนได้ศึกษา อีกส่วนหนึ่งของพระกรุ พระธาตุพนมให้นำเข้าถวายคืนเเก่องค์พระธาตุรวม พระกรุ พระธาตุพนมทั้งวัตถุที่ประชาชนบริจาคเพิ่มเติมด้วย รวมเเล้วมีวัตถุ พระกรุพระธาตุพนม ที่บรรจุไว้มี ๓๐,๐๐๐ ชิ้น

พระธาตุพนม องค์เดิม

            พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า "กปณบรรพต" หรือ "กปณคีรี" ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ

            ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ "โพนฉัน" (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน

           วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพาน

            ลักษณะการก่อสร้างในสมัยเเรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นไปเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยมกว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปเถระ สูงสองวาข้างในเป็นโพรงเเล้วเผาให้สุกมีประตูเปิดปิดทั้งสี่ด้าน เมื่อสร้างเสร็จเเล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัส สปเถระนำมาจากอินเดียประดิษฐานข้างในเเล้วปิดประตูทั้งสี่ด้านเปิดให้คนเข้า ไปสักการะได้ในบางโอกาส ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองสืบต่อๆมาก็ได้ทำนุบำรุงเเละปรับปรุงอยู่เสมอ กล่าวกันว่าในสมัยของพระยาสุมิตธรรมวงศาเมืองศรีโคตรบูร ได้เชิญชวนท้าวพระยาเมืองอื่นๆต่อเติมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นเป็นชั้นที่ ๒ เเละ อัญเชิญพระอุรังคธาตุขึ้นไปประดิษฐานไว้บนยอดองค์พระธาตุพนมด้วย ความตอนนี้ 
พระโบราณาจารย์ได้บันทึกไว้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพานเเล้วได้ ๕๐๐ ปี พระยาทั้งห้าที่สร้างพระธาตุพนมยุคเเรกได้มาเกิดเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ เดินทางมาขอความอุปถัมภ์บูรณะเจดีย์พระธาตุพนมที่เรียกในสมัยนั้นว่าอุโมงค์ ภูกำพร้า กับพระยาสุมิตธรรมวงศาหรือสุมินทราชกษัตริย์ผู้ครองเมืองมรุกขรครที่ย้ายจาก ศรีโคตรบูร พ.ศ.๒๒๓๖-๒๒๔๕ สมเด็จพระสังฆราชาสัทธัมโชตนญาณวิเศษ เรียกกันทั่วไปว่า เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ได้พาราษฏรประมาณ ๓,๐๐๐ คนจากเวียงจันทร์มาอยู่พระธาตุพนม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
- เปิดตำนาน!! ๗ พญานาคราช ผู้พิทักษ์รักษา "พระธาตุพนม" เผยเหตุบังเอิญอันประหลาด..ฝันเห็นพญานาคในพระอุโบสถในคืน "พระธาตุพนมถล่ม" !!


- คนไทยเตรียมเฮ!!ที่ประชุมคณะกก.มรดกโลกจะรับทราบการบรรจุพระธาตุพนม พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

 

ที่มาจาก : http://www.baanmaha.com

              https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

ขอบคุณคลิปจาก : Youtube Sangrawee TV