ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓ ธนบัตรเล้งท่าฉาง กับ ขบวนการไทยถีบ

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

ธนบัตรเล้งท่าฉาง กับ ขบวนการไทยถีบ

 

ธนบัตรซึ่งมีชื่อเสียงโจษขานในเรื่องการถูกขโมยและการปลอมแปลงลายมือชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากที่สุดในช่วงสงคราม เห็นจะไม่มีชุดใดเกินธนบัตรชุด “เล้งท่าฉาง”

ในระหว่างสงครามขณะที่นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  มีเรื่องเล่ากันมาว่าญี่ปุ่นได้ลำเลียงธนบัตรชนิดราคาต่างๆ จากมลายูหรืออินโดนีเซียเข้ากรุงเทพฯ โดยทางรถไฟหลายเที่ยว เที่ยวหนึ่งถูกคนไทยขโมยธนบัตรเหล่านี้

โดยการถีบหีบห่อลงจากตู้รถไฟ ขณะแล่นอยู่ระหว่างสถานีบางน้ำจืดถึงสถานีท่าฉาง เมื่อได้ธนบัตรเหล่านี้แล้วก็มีชาวบ้านหัวใส นำไปมอบให้ชายไทยผู้หนึ่งชื่อ “เล้ง” แห่งอำเภอท่าฉาง เป็นผู้เซ็นชื่อ “เล้ง ศรีสมวงศ์” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงในธนบัตรดังกล่าว

และได้ไปว่าจ้างโรงพิมพ์ในท้องถิ่นตีพิมพ์หมายเลขธนบัตร แล้วนำออกเผยแพร่จ่ายแจกหรือจำหน่ายในราคาถูก ธนบัตรเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก

คนไทยสมัยนั้นจึงเรียกธนบัตรรุ่นที่มีปัญหานี้ว่า “ธนบัตรเล้งท่าฉาง” และเรียกกลุ่มคนที่ขโมยธนบัตรหรือสัมภาระของญี่ปุ่นจากตู้รถไฟว่า “ขบวนการไทยถีบ”

 

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

ภาพที่ ๑๔ ธนบัตรราคา ๕ บาท ลงนามโดยนายเล้งท่าฉาง (นายเล้ง แห่งอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

 

ธนบัตรเล้งท่าฉางที่พบส่วนใหญ่เป็นราคา ๑๐ บาท บางฉบับนายเล้งได้ลงนามเอง บางฉบับใช้ลายเซ็นซึ่งแกะด้วยหัวมันเทศประทับลงไป นับเป็นเรื่องที่จัดว่าฮือฮากันทั่วไปในเวลานั้น

จากการสอบถามนายธรรมทาส พานิช แห่งโรงพิมพ์ธรรมทาน อำเภอไชยา เล่าว่าสมัยนั้นมีการขโมยห่อธนบัตรที่ขนจากทางใต้ไปกรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟบางน้ำจืด อำเภอท่าฉางจริง

และได้มีผู้นำเอาธนบัตรราคา ๑๐ บาท (สีน้ำตาล) มาว่าจ้างให้โรงพิมพ์ธรรมทานตีพิมพ์ชื่อนายเล้ง ศรีสมวงศ์ และพิมพ์หมายเลขลงบนธนบัตร แต่ทางโรงพิมพ์ปฏิเสธ ตนจึงไม่ทราบว่าธนบัตรดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด และนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไป

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

ภาพที่ ๑๕ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท ลงนามโดยนายเล้งท่าฉาง (นายเล้ง แห่งอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

แต่หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว ขบวนการไทยถีบน่าจะดำเนินการขโมยและปลอมแปลงธนบัตรอีกชุดหนึ่งคือ

 

ชุดพิมพ์ที่ญี่ปุ่น (ชนิดราคา ๑๐ บาท) ซึ่งมีจำนวนหนึ่งพิมพ์ที่ชวาด้วยกระดาษและหมึกที่คุณภาพต่ำและปลอมแปลงได้ง่ายในวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลจึงประกาศให้ใช้เป็นธนบัตรแก้ราคาเป็น ๕๐ สตางค์

 

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

 

ภาพที่ ๑๖ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท ซึ่งนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย ผ่านทางภาคใต้โดยทางรถไฟ

 

ซึ่งจากธนบัตรตัวอย่างที่มีอยู่ จะเห็นว่าตราประทับแก้ราคา ง่ายต่อการปลอมและเป็นไปได้ที่จะแกะจากหัวมัน ลงนามพระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในสมัยนั้น) ก็ดูไม่ออกว่าใครเขียน

ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓

 

ภาพที่ ๑๗ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท (ด้านหลัง) ภายหลังมีการแก้ไขราคาเป็น ๕๐ สตางค์

เลขหมวดหมู่ก็ใช้ปากกาคอแร้งเขียนเอาเฉยๆ ประกอบกับมีหลักฐานสนับสนุนว่าธนบัตรชุดนี้ขนจากใต้ไปกรุงเทพฯ แน่ (เพราะพิมพ์ที่ชวา) ทำให้น่าจะเชื่อว่าเรื่องธนบัตรเล้งท่าฉางนั้น อาจเป็นศรีวิศาลวาจาท่าฉางก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่คลายสงสัยว่าเหตุใดจึงเพียรพยายามแก้ธนบัตรจากราคา ๑๐ บาท ลงมาเป็น ๕๐ สตางค์เล่า?

 

เอกสารอ้างอิง : ชาลส์ สจ๊วต ธนบัตรไทย โรงพิมพ์ด่านสุทธาการพิมพ์ ๒๕๒๘