ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๒

ย้อนรอยมหาสงครามเอชียบูรพา เสี้ยวประวัติศาสตร์สงครามโลก “ท่าแพ” รอยทราย มิอาจกลบอดีต ๒

2. แล่น..... แล่นสุดชีวิต (วิ่ง.... วิ่งสุดชีวิต)

 

หลังจากหลุดจากวงแขนของ พ่อเพื่อน ที่เด็กน้อยเรียกว่า น้าหลวง สิ่งเดียวที่เด็ก 2 คนจะทำได้ คือทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด “วิ่ง วิ่ง วิ่ง และก็วิ่ง” จากทางดำ (ถนนลาดยางมะตอย) หลบเข้าทางแดง (ถนนดินลูกรัง) เจอฝูงคนก็วิ่งเข้าหาวงล้อมหวังเพียงให้ใครสักคน “ให้ความปลอดภัยแก่ เธอ ทั้ง 2 ได้” เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่ดูยาวนานชั่วกัป ชั่วกัลป์ ในความคิดเด็กทั้ง 2 คน

 

รองเท้ายางที่มีเพียง “เด็กหญิง” คนเดียวเท่านั้นที่ติดตัวมาแต่แรกจากบ้าน ไม่สามารถทนแรงวิ่งที่ถูกกระชากลากถู และความขับเคลื่อนจากความกลัวของเด็กหญิงไปได้ และไม่ต้องถามถึงเท้าน้อยๆ ของเพื่อนเธอ ที่วิ่งเท้าเปล่านับตั้งแต่หลุดจากวงแขนของผู้เป็นพ่อ

 

น้ำตาไหลรินลงมาที่แก้มของเด็กทั้ง 2 อย่างพร่างพรูอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต นับตั้งแต่เห็นแม่ยื่นปืนลูกโม่ให้ “น้าหลวง” และ “น้าหลวง” พ่อของเพื่อน ตะโกนสั่งวิ่งสุดเสียง แล้วพาตนเองวิ่งย้อนสวนทางกลับไปยังต้นเสียงปืนจากผู้รุกรานที่บ้านของแม่ตน โดยมีเสียงปืนดังมาเป็นระยะ และถี่ขึ้นกว่าเก่า

แต่สิ่งหนึ่งที่เธอทั้ง 2 ปฏิบัติตาม คือวิ่ง.............. วิ่งสุดชีวิต..............

 

 

ไม่ทราบว่าเป็นเวลานานเท่าไหร่ เด็ก ทั้ง 2 พลัดหลงกันตอนไหนไม่มีใครจำได้ ฝูงชนวิ่งไปคนละทิศ คนละทาง ต่างคนต่างก็เหมือนจะหาทางหนีไม่ได้

 

แต่นับว่า เคราะห์ของเด็กหญิงยังดี ที่ในกลุ่มคนที่วิ่งมาด้วยกัน เธอได้พบกับยายซึ่งเป็นแม่นม เธอวิ่งเข้ากอดพร้อมร้องไห้ แรงเหนือหอบ แรงที่ต้องร้องไห้ แรงที่สะอื้น ของเด็กน้อยวัย 5 ขวบพยายามที่จะเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ก็เหมือนมีอะไรมากระจุกไว้คอ จะกลืนก็ไม่ได้ จะคายก็ไม่ออก และอย่าถามถึงพูดให้รู้ความ

 

แรงหอบ แรงสะอื้น ทำให้ “เด็กหญิง” พูดไม่เป็นคำ มีเพียงเสียงสะอื้นเท่านั้นที่ออกจากลำคอ ที่แม้จะไม่เป็นคำ หรือฟังได้ใจความ แต่เสียงสะอื้นด้วยความกลัวนั้นอธิบายเหตุการณ์ให้แก่ ยายซึ่งเป็นแม่นมได้เป็นอย่างดี

 

ยายของเด็กน้อยอุ้มเธอมาส่งต่อให้น้าๆ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน คนรู้จักมักคุ้น แห่งชุมชนท่าแพด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนที่จะแยกย้ายหนีไปคนละทิศ คนละทาง น้าคนรู้จักของเธอ และครอบครัวของน้าเอง พาเด็กน้อยหนีภัยสงครามหลบออกไปทางทุ่งนาหลังหมู่บ้าน

 

ที่ในเวลานั้น เป็นที่รู้กันดีว่า เดือน 12 ธันวาคม เมื่อ 70 ปีที่แล้ว น้ำเหนือจะไหลเออขึ้นมาเต็มท้องทุ่งนาข้าวเป็นประจำทุกปี ทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ไปจรดกับป่าพรุ ป่าโกงกาง ป่าแสมชายฝั่งทะเล จนถึงปากอ่าวออกทะเลจะอยู่ในสภาพน้ำหลากในช่วงปลายปี ซึ่งนับได้ว่าอย่างจะเป็นทางหนีที่ดีที่สุด

 

เพราะหน้าน้ำหลากทีไร ชาวบ้านในช่วงยามสงบปกติ จะพากันมาเที่ยวท้องทุ่งนาข้าวที่เต็มไปด้วยน้ำสุดลูกหูลูกตา เด็กๆ อย่างเธอก็พลอยติดเรือมาเล่นน้ำ ที่ลึกประมาณ เอวผู้ใหญ่อย่างสนุกสนาน

แต่ในยามวิกฤติเช่นนี้ ใครเล่าจะนึกว่า สถานที่ที่เคยมาสนุกสนาน จะกลายเป็นที่ที่ดีที่สุดในการ “หนีภัยสงคราม” สัมภาระทุกอย่างของผู้ใหญ่ ถูกทิ้งไว้ไม่มีใครอะไรเอาติดตัวไปให้พะรุงพะรัง

ระหว่างเมื่อต้องย่ำเดินหนีตาย ฝ่ากระแสน้ำที่บางทีเงียบสงบ บางทีเชี่ยวกราก อย่างคาดคะเนมิได้ ทุกคนเหลือเสื้อผ้าติดตัวกันไปเพียงชุดเดียว เด็กหญิงถูกผลัดมือกันอุ้ม ขี่คอบ้าง ขี่หลังบ้าง จูงไปบ้าง

 

ระหว่างทางเมื่อได้ยินเสียงเครื่องบินญี่ปุ่น เฉียดเข้ามา พวกผู้ใหญ่ทั้งหมด จะต้องดำน้ำซ่อนตัว เพราะกลัวจะเป็นเป้าให้เครื่องบินญี่ปุ่นกราดกระสุนเข้าใส่ แบบ spray bullet ที่เน้นการเสียหายของพลเมืองมากกว่าหวังผลทำลายสถานที่ จะทิ้งไว้ก็แต่เพียงเด็กน้อย ที่ว่ายน้ำไม่เป็นที่ต้องโผล่ขึ้นมาเพียงคอ อาศัยกอข้าวที่กำลังออกรวง กำบังตัวเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ด้วยวัยเพียง 5 ขวบ เด็กหญิงร่ำไห้ไปตลอดทาง เมื่อเธอเดินไม่ไหวก็เป็นภาระของผู้ใหญ่ที่ไปด้วยกัน ที่ต้องชวยกันอุ้ม ช่วยกันกระเตงหลานสาวตัวเล็ก ฝ่ารกฝ่าพงกันมา ไหนจะทั้งความหวาดหวั่นไม่รู้ชะตากรรมเบื้องหน้า ไหนจะความอ่อนล้า เพราะข้าวปลาอาหารก็ยังไม่ตกถึงท้องเลยตั้งแต่เช้า                      

หลังจากเดินเท้าหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ร่วมวัน เด็กหญิงก็ถูกพามาหลบภัยสงคราม อยู่ที่บ้านแห่งหนึ่งในตัวเมือง ซึ่งเจ้าของบ้านคือ “ขุนบวรรัตนา” ซึ่งเป็นเจ้านายของคุณอาของเธอ ที่นั่นเจ้าของเรือนหุงหาข้าวปลาอาหารหม้อใหญ่เลี้ยงผู้คนมากมาย ที่หนีภัยสงครามเข้ามาขอความพึ่งพิง           

เสื้อผ้า ผ้าถุง ที่เปียกปอน และขาดวิ่น เนื้อตัวที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของ คมจากใบข้าว ใบหญ้า และหนามจากกอบัว มีให้เห็นทั่วไปตามร่างกายของเด็กหญิง ณ เวลานี้ เธอยืนตัวเปล่า ล่อนจ้อนไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือนุ่งผ้าถุง เพราะด้วยไม่มีโอกาสได้หยิบคว้ามาตั้งแต่คราวออกจากบ้าน จะมีเพียงสิ่งเดียวที่ติดตัวมาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง คือ “ชีวิตของเธอ” 

เธอยืนพิงเกาะลูกกรงเหล็ก มองดูทหารญี่ปุ่นเดินเรียงแถวผ่านมาจากสะพานราเมศวร์ ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลไทยประกาศยุติการปะทะ หยุดยิงทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้กองทัพพระจักรพรรดิใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านสู่พม่า และอินเดียได้

ที่บ้านหลังนั้นเอง “เด็กหญิง” ยืนพิงประตูหน้าบ้านมอง กองทัพทหารญี่ปุ่นเดินแถวกรีธาทัพเข้าตัวเมืองอย่างเหม่อลอย……………
 

สงครามของสยามประเทศพึ่งผ่านไป แต่สงครามชีวิตของเด็กน้อย ได้เดินผ่านประตูชะตากรรมแห่งชีวิตเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่เต็มใจที่จะเชื้อเชิญมันเข้ามา แต่ใครจะรู้เล่าว่า ชะตากรรมชีวิต คือสิ่งที่อาจจะลิขิตเองได้ในบางครั้ง

แต่ชะตากรรมชีวิตของเธอหลังจากภัยรุกรานครั้งนี้ก็เหมือนมี คนลิขิตชะตากรรมให้เธอ ให้ในสายตาดวงน้อยของเธอ ต่อไปนี้ทุกอย่างคงจะเปลี่ยนไป ในเมื่อผู้รุกรานได้กลายมาเป็นเพื่อนกับเจ้าของประเทศอย่าง “คนไทย”

แล้ว “คนไทยเชื้อจีน” ในแผ่นดินไทยอย่างเธอเล่า……

แล้ว “แม่ของเธอ” เล่า……

แล้ว “น้าหลวง พ่อของเพื่อน” เล่า…..

แล้ว “เพื่อนเล่น” ของเธอเล่า…..

 

ใครเล่าจะรู้ว่าเป็นเช่นไร..... ใครเล่าจะรู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร..... ใครเล่าจะรู้ว่าสืบเสาะได้ที่ใด.....

ใครเล่า? ..... ใครจะรู้?......

น้ำตาเริ่มทยอยหลั่งรินไหลขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเรื่องราวไม่ทันข้ามวัน ถวิลเข้ามาในดวงจิตน้อยๆ ของเธอ เด็กหญิงผู้ถูกลิขิตชะตากรรมจากผู้รุกราน

 

วันต่อมา น้าๆ อาๆ แห่งชุมชนท่าแพก็พาเธอเดินทางต่อไปยังบ้านของน้าสะใภ้ ที่ใช้ “แซ่เดียวกัน” ที่อยู่ในหุบเขาบนภูเขาที่ไกลออกไป นั่นคือ “คีรีวง” ท้องที่อันสงบที่ไม่เคยมี สงครามไหนไปได้ถึง

อีกร่วม 2 วันที่ทุกคนต้องพเนจรรอนแรม ต้องขออาศัยข้าวปลาอาหาร และที่พักหลับนอนของชาวบ้านตามเส้นทางที่ผ่านไป เด็กน้อยไปถึงที่หมายในสภาพที่โรยล้าเหนื่อยอ่อน

ตามเนื้อตัวก็เต็มไปด้วยรอยบาดของใบข้าวใบหญ้า เสื้อผ้าที่สวมอยู่ก็ขาดวิ่นเกินจะใส่ มีคุณยายใจดีที่เห็นเข้าแล้วสงสาร มอบชุดเสื้อผ้าหลานสาว และผ้าถุงผืนเก่าๆ ให้เธอ

อย่างไรก็ตามความโรยล้าที่เธอได้ประสบ ก็คงไม่เท่ากับการที่เธอต้องร่ำไห้ ยามพบตัวเองต้องพลัดพรากจากครอบครัวโดยกะทันหัน           

ภัยสงครามทำให้ครอบครัวของเด็กน้อยอยู่ในสภาพ “บ้านแตก..........สาแหรกขาด”