กางแผนพัฒนาขนส่งเมืองใหญ่ เร่งรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ประเดิมต้นปี 2561 ด้วยการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาจราจรในหัวเมืองใหญ่ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ด้วย แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบา ภายใต้การออกแบบของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
 
++เร่งรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่มีปัญหาการจราจรติดขัด จึงต้องเร่งสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างเร็วที่สุด ซึ่งระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ โดยมีทางวิ่งระดับดิน ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 ทั้งหมด 24 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง จังหวัดพังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 58.525 กม.
ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ตได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่ง
 

กางแผนพัฒนาขนส่งเมืองใหญ่ เร่งรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต

 

มวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายงานการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2561
 
สำหรับเมืองพิษณุโลก เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง และมีความเป็นไปได้มี 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ รถโดยสารขนาดเล็ก และรถรางล้อยาง (Auto Tram) รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีขนส่งผู้โดยสาร พิษณุโลก แห่งที่ 1 ขนาด 6 ไร่ 2.ศูนย์การค้าโลตัสท่าทอง ขนาด 25 ไร่ 3.สถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลก แห่งที่ 2 ขนาด 50 ไร่
 
++เชียงใหม่ใช้LRT 3เส้นทาง
สนข.ออกแบบโครงข่ายแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ไว้แล้ว 2 โครงข่าย คือ โครงข่าย A ประกอบด้วย 1. ระบบหลัก เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (LRT) 3 เส้นทางได้แก่ สายสีแดง สายสีนํ้าเงิน และสายสีเขียว รวมระยะทาง 34.93 กม. 2. ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสาร 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 89 กม. แต่ละเส้นทางสามารถวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ หรือเฉพาะบัสเลนก็ได้ และ 3. ระบบเสริม เป็นระบบรถโดยสาร 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 85 กม.วิ่งร่วมกับการจราจรปกติในเขตเมือง และโครงข่าย B ประกอบด้วย 1.ระบบหลัก เป็น LRT 3 เส้นทางและมีแนวเส้นทางเช่นเดียวกับโครงข่าย A แต่โครงสร้างทางวิ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดินทั้งหมดรวมระยะทาง 41.49 กม. 2.ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสาร 7 เส้นทาง 3.ระบบเสริม เป็นระบบรถโดยสาร 7 เส้นทาง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้าง
++ขอนแก่นชูแนวเหนือ-ใต้
สำหรับจังหวัดขอนแก่น ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ในรูปแบบการลงทุนโดยที่รัฐเวนคืนที่ดินแล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งงานระบบและจัดหาตัวรถตลอดจนงานดำเนินการและบำรุงรักษา สำหรับเส้นทางที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการนำร่อง ได้แก่ เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กม.
 
สำหรับนครราชสีมา สนข.ออกแบบให้เป็นรถไฟฟ้ารางเบา(LRT) 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) หรือจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ ได้คัดเลือกพื้นที่ 2 บริเวณ 3 ได้แก่ ย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือย่านสถานีรถไฟโคราช (TOD 1) และย่านสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2 (TOD 2) โดยให้รฟม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครนครราชสีมา อยากให้ออกแบบเป็นรถโทรลลี่ล้อยางมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องวางราง และใช้ถนนร่วมกับรถทั่วไปได้
 
การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหัวเมืองใหญ่ จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองที่คับแคบโดยไม่ต้องขยายถนนใหม่ สร้างเมืองให้ขยายตัวอย่างเป็นระบบในรูปแบบ สมาร์ทซิตี
 
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
 
ขอบคุณที่มา   ฐานเศรษฐกิจ