ทำผิด! แล้วยังกล้าสาบาน ระวัง! จะเกิดเป็นเปรต

อย่าสาบานส่งเดช! ระวัง! จะเกิดเป็นเปรตในภพต่อไป

 “คำสาบาน” เป็นการตั้งจิตอธิษฐานโดยอาศัยความจริง เพื่อเป็นการยืนยันโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อื่นว่าตนไม่ได้กระทำในสิ่งนั้นๆ (ซึ่งส่วนมากจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ผิด) หากตนทำจริงก็ขอให้พินาศ หรือมีอันเป็นไปต่างๆนานา ซึ่งคำสาบานจะเกิดผลจริงได้ ก็ต่อเมื่อคนๆนั้นไม่ได้กระทำในสิ่งที่ตนได้สาบานไว้ หรือไม่ได้ทำผิดตามที่ผู้อื่นว่าร้าย

ทำผิด! แล้วยังกล้าสาบาน ระวัง! จะเกิดเป็นเปรต

หากแต่หลายคนทำผิดแล้วยังกล้าสาบานเพียงเพราะเกรงกลัวผลกระทบที่ตามมาเมื่อคนอื่นรู้ว่าตนกระทำในสิ่งที่ไม่ดี จึงสาบานเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อื่น หรือ สาบานเพื่อหลีกหนีความผิด แต่หารู้ไม่ว่า การสาบานทั้งๆที่ตนกระทำผิด จะทำให้เกิดผลกรรมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตามความเชื่อแล้ว หากใครที่ทำผิดแล้วยังกล่าวคำสาบานว่าตนไม่ได้ทำ ก็เท่ากับเป็นการโกหกหลอกลวง ขณะเดียวกัน กรรมนั้นก็จะให้ผลตามวิธีที่ตนได้สาบานไว้   ดังปรากฏเป็นตัวอย่างใน  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตกินลูกคราวละ ๕ คน http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=3053&Z=3076

ใจความมีอยู่ว่า


ทำผิด! แล้วยังกล้าสาบาน ระวัง! จะเกิดเป็นเปรต

 

พระสังฆเถระถามว่า

             [๙๑]            ท่านเปลือยกาย มีผิวพรรณเลวทราม มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป หมู่แมลง

                          วันพากันตอมเกลื่อนกล่น ท่านเป็นใครหนอมายืนอยู่ในที่นี้?

             หญิงเปรตนั้นตอบว่า

                          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเปรต ถึงทุคติ เกิดในยมโลก เพราะทำ

                          กรรมอันลามกจึงต้องจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก เวลาเช้าคลอดบุตร ๕ คน

                          เวลาเย็นอีก ๕ ตน แล้วกินลูกเหล่านั้นหมด ถึงบุตร ๑๐ คนเหล่านั้น

                          ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉัน หัวใจของดิฉันเร่าร้อนอยู่เป็นนิจ

                          เพราะความหิวดิฉันไม่ได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม ขอท่านจงดูดิฉันผู้ถึงความ

                          พินาศเช่นนี้เถิด.

             พระเถระถามว่า

                          เมื่อก่อน ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือท่านกินเนื้อ

                          บุตรทั้งหลาย เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร?

             หญิงเปรตนั้นตอบว่า

                          เมื่อก่อน หญิงร่วมสามีของดิฉันคนหนึ่งมีครรภ์ ดิฉันคิดชั่วต่อเขา มีใจ

                          ประทุษร้าย ได้ทำให้ครรภ์ตกไป เขามีครรภ์ ๒ เดือนเท่านั้น ไหลออก

                          เป็นโลหิต ครั้งนั้น มารดาของเขาโกรธ เชิญพวกญาติของดิฉันมา

                          ประชุมซักถาม ให้ดิฉันทำการสบถและขู่เข็ญให้กลัว ดิฉันได้กล่าวคำ

                          สบถและมุสาวาทอย่างแรงว่า ถ้าดิฉันทำชั่วอย่างนี้ ขอให้ดิฉันกินเนื้อ

                          บุตรเถิด ฉันมีกายอันเปื้อนด้วยหนองและโลหิต กินเนื้อบุตรทั้งหลาย

                          เพราะวิบากแห่งกรรม คือ การทำให้ครรภ์ตกและการพูดมุสาทั้งสองนั้น

ทำผิด! แล้วยังกล้าสาบาน ระวัง! จะเกิดเป็นเปรต

 

สรุปใจความสำคัญคือ พระสังฆะเถระ ได้เห็นหญิงเปรตตนหนึ่งผิวพรรณทราม มีกลิ่นเหม็นเน่าและหมู่แมลงตอมทั้งยังทราบว่า เปรตหญิงตนนี้ต้องกินลูกของตนวันละ 10 เพื่อประทังความหิว ท่านจึงถามนางเปรตว่าเป็นผลจากกรรมใดจึงมาเป็นเช่นนี้

นางเปรตเล่าว่า สมัยที่นางเป็นมนุษย์นางมีใจประทุษร้าย ทำร้ายหญิงร่วมสามี (ภรรยาอีกคน) ที่กำลังตั้งครรภ์ได้สองเดือนจนทำให้หญิงคนนั้นแท้งลูก  แม่ของหญิงผู้นี้ทราบเรื่องรู้สึกโกรธและเชิญให้ญาติๆรวมทั้งตัวนางเองมาซักถามว่าได้ทำร้ายหญิงที่ตั้งครรภ์หรือไม่ นางกลับกล่าวเท็จและสบถสาบานว่า ถ้าตนทำชั่วเช่นนี้ ขอให้ตนกินเนื้อลูกของตนเอง ต่อมาเมื่อนางตายไป กรรมที่นางได้ทำให้หญิงร่วมสามีแท้งลูก คือ กรรมปาณาติบาต ส่งผลให้นางเกิดเป็นเปรต มีผิวพรรณทราม มีกลิ่นเน่าเหม็น แมลงตอม  และด้วยกรรมจากการกล่าวเท็จและสบถสาบานว่า ถ้านางทำชั่วเช่นนั้นจริง ขอให้นางกินลูกตัวเอง นางจึงเกิดเป็นเปรตที่ต้องคลอดลูกตอนเช้า 5 ตน ตอนเย็น 5 ตน และต้องกินลูกเพื่อประทังความหิวตามคำพูดของนางเอง แต่ก็ไม่อาจบรรเทาความหิวให้สิ้นไปได้

จะเห็นว่าหากทำผิดแล้วก็ควรยอมรับผิด หาใช่กล่าวเท็จและสบถสาบาน เพียงเพื่อหลีกหนีความผิดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดกรรมที่หนักขึ้นไปอีก… ตัวอย่างนี้จึงเป็นสิ่งที่เตือนสติมนุษย์ผู้มีลมหายใจอยู่ได้เป็นอย่างดี ว่ากรรมใดๆก็ตามที่ทำลงไปแล้ว ย่อมเห็นผล ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม… ใครที่ทำผิดแล้วยังกล้าสาบาน ระวังให้ดี!!!

ทำผิด! แล้วยังกล้าสาบาน ระวัง! จะเกิดเป็นเปรต

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘

ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตกินลูกคราวละ ๕ คนhttp://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=3053&Z=3076

เครดิตภาพ : Napapawn