แปะพลาสเตอร์ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย

เพื่อนๆเคยสงสัยมั้ยค่ะว่า เวลาเราหกล้ม เป็นแผลตามร่างกาย เราจำเป็นมั้ยที่ต้องแปะพลาสเตอร์ หรือไม่ แปะแล้วจะทำให้แผลหายเร็วหรือช้า มาดูกันค่ะ
 

โดยในเฟสบุคของอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำวิชาชีวิวิทยา ได้ระบุเอาไว้ว่า

เวลาที่เราเป็นแผลนั้น สิ่งที่จะต้องระวังให้มากก็คือ การติดเชื้อที่แผล (wound infection) จากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่รอยเปิดที่ผิวหนัง แล้วอาจจะลามลงไปสู่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หรืออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับแผล ซึ่งอาจจะเกิดอาการขึ้น 2-3 วันหลังจากมีแผล หรือเป็นแรมเดือนหลังจากนั้นก็ได้ เช่น แผลมีรอยแดง เจ็บ บวม เริ่มมีกลิ่นเหม็น มีหนองออกมา ฯลฯ

แปะพลาสเตอร์ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย

อาการเช่นนั้น แสดงว่าเริ่มเกิดการสะสมและเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่บาดแผล ซึ่งอาจจะมาจากเชื้อที่อยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว หรือมาจากเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอุปกรณ์ทำแผล ถ้าเกิดเป็นเชื้อแบคทีเรีย

ดังนั้น การทำแผลให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยปละละเลย ตามขั้นตอนดังนี้ (สมมติว่าเป็นแผลสดทั่วไป)

1. ถ้ามีเลือดออก ให้ทำ การห้ามเลือด.
2. ถ้ามีบาดแผลเล็กน้อย ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (เช่น น้ำก๊อก น้ำสุก) กับสบู่  แล้วใช้ไม้พันสำลีหรือผ้าก๊อซซับให้แห้ง เช็ดรอบแผลด้วยน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน, แอลกอฮอล์ หรือ ทิงเจอร์ใส่แผลสด อย่าเช็ดที่แผล
3. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลสำเร็จรูป ห้ามถูกน้ำ
4. ทำแผลวันละ 1-2 ครั้ง ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำจนกว่าแผลจะหาย
5. ถ้าแผลติดเชื้อ เป็นหนอง หรือมีไข้ ควรไปหาหมอเพื่อพิจารณาให้ ยาปฏิชีวนะ
6. ถ้าบาดแผลขนาดใหญ่ ควรรีบพาไปหาหมอ เช่น มีแผลแยกกว้าง แผลลึก เลือดออกมาก แผลถูกแทง

แปะพลาสเตอร์ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย

ระหว่างที่บาดแผลกำลังสมานตัว ควรระมัดระวังไม่ให้พลาสเตอร์ปิดแผลนั้นเปียกน้ำ หรือสกปรก พลาสเตอร์ยาจะช่วยป้องกันแผลจากการติดเชื้อ และช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผล ถ้าพลาสเตอร์เปียกน้ำ ควรรีบเปลี่ยนพลาสเตอร์ทันที โดยให้ลอกพลาสเตอร์ออกอย่างช้า ๆ และควรเปลี่ยนพลาสเตอร์ทุกวัน จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น

ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ ควรจะเลือกใช้พลาสเตอร์ชนิดปิดแน่น หรือกึ่งปิดแน่น เพื่อคงความชุ่มชื้นและลดการเกิดรอยแผลเป็น ถ้าเป็นแผลขนาดกลางหรือเป็นแผลบนฝ่ามือ หัวเข่า และบริเวณอื่นที่เสียดสีกับเสื้อผ้า หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรกได้ง่าย ก็ควรเลือกใช้พลาสเตอร์แบบแถบกาว ซึ่งควรจะสามารถกันน้ำได้ พร้อมกับมีรูระบายอากาศด้วย เพื่อทำให้เมื่อปิดแผลแล้ว แผลจะได้สะอาด ไม่อับชื้น ไม่มีการติดเชื้อโรคที่อาจจะมากับน้ำ 

แต่ถ้าแผลมีขนาดเล็กและไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว ก็อาจไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์ เนื่องจากแผลจะแห้งเร็ว และหายได้เอง

เพราะฉะนั้นหากใครที่เป็นแผล แล้วจะปิดหรือไม่ปิดพลาสเตอร์ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลด้วย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นระวังแผลติดเชื้อแบคทีเรีย และห้ามให้แผลโดนน้ำเด็ดขาด แผลจะได้หายเร็วยิ่งขึ้น

CR.ข้อมมูลเฟสบุค Jessada Denduangboripant