ธรรมจากพระโอษฐ์: ไขความลับใน"หัวใจ"ด้วยการใช้"สมาธิ" !!!

ธรรมจากพระโอษฐ์ ตอนที่6: ไขควมลับใน"หัวใจ"ด้วยการใช้"สมาธิ" !!!

ความลับของจิตใจ ถูกเปิดเผยในสมาธิ [1]

 

... สมาธินี้ถ้าเราเอามาใช้  คือสร้างสมาธิให้ดีขึ้นหน่อย แล้วเอามาใช้  ไม่ต้องทำสมาธิให้หนักแน่นมากนัก  แต่ว่าเป็นสมาธิที่ควบคุมได้  เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่ง ก็จะมาเห็นใจของเรา  ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ  ใจจะเป็นสิ่งที่เปิดเผย  คือเราเปิดเผยกับตัวเอง

ถ้ากลัวว่าคนอื่นจะมาเห็นใจเรา จะมาทะลุทะลวงเข้ามาในใจเรา  ไม่ต้องกลัว  เราเองทะลุทะลวงเข้ามาในใจของตัวเอง  เราก็ดูใจนี้ ก็จะเห็นได้ต่อเมื่อใจนั้นได้รับที่เรียกว่า “อารมณ์”  คือ สิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตา ได้ฟังด้วยหู เป็นต้น

เวลาเข้ามาแล้ว เราจะเห็นว่าใจนี้  อันนี้พูดอย่างลับ  ใจนี้จะมีความรู้สึกอย่างไร  คือตัวใจนี้เป็นรูปร่างอย่างไร  ใจนี้จะชอบ ชอบใจหรือไม่ชอบใจ  อันนี้ใช้สมาธิที่ทำให้ใจนี้นิ่งก่อน  แล้วก็เมื่อมีอารมณ์ ซึ่งอารมณ์เข้ามาทุกเมื่อตลอดเวลา  อารมณ์เข้ามา เรากั้นอารมณ์นั้นไว้เท่าที่มีความสามารถด้วยการระงับนิวรณ์  ใจนั้นจะกระเพื่อม

ถ้าเปรียบเทียบได้จะเห็น  จะเห็นในใจของแต่ละคน  ถ้าคิดจริงๆ  ดูว่าใจนี้เป็นเหมือนน้ำที่นิ่ง  สมมติว่า เราเอาน้ำมา ไม่ต้องมาก  เอาน้ำมาใส่ชามอ่างก็ได้  กลับบ้านไปหาชามอ่าง เอาน้ำมาใส่ให้เต็ม  เอาชามอ่างนั้นมาวางไว้แห่งหนึ่ง  น้ำนั้นจะนิ่ง  ทิ้งไว้ให้นิ่งสักครู่

คราวนี้เปรียบเทียบกับใจ  ใจหรือน้ำนิ่งนั้น  แล้วเราก็ไปหาอะไรอย่างหนึ่ง จะเป็นก้อนกรวดหรือจะเป็นอะไรก็ตาม โยนลงไป  น้ำนั่นเป็นอย่างไร  น้ำกระเพื่อม  หรือชามอ่างนั้นวางไว้  เราไปผลัก  น้ำจะเป็นอย่างไร  น้ำจะกระเพื่อม  เราจะเห็นน้ำกระเพื่อม  กระเพื่อมอย่างไร เราก็เห็น  ถ้าเราโยนอะไรเล็กๆ ลงไป น้ำจะกระเพื่อม ก็เหมือนเป็นคลื่นเล็กๆ

เสร็จแล้ว ถ้าเราผลักเอา มันก็จะกระเพื่อมๆ ไปคนละอย่าง  ถ้าเราเอาน้ำใส่เต็มอ่าง ชามอ่างนั้นอาจจะทำให้น้ำกระฉอกออกมา  หรือถ้าเราโยนอะไรที่ใหญ่ลงไป น้ำต้องกระเซ็นออกมา ทำให้โต๊ะหรืออะไรที่เราวางไว้เปียกหมด  ถ้าเราผลักน้ำก็อาจจะต้องหก

นี่แหละใจ  เราจะเห็นได้ว่า  ใจของเราเมื่อได้รับการกระทบอย่างไรก็ตาม ด้วยอารมณ์ใดก็ตาม  ใจนั้นจะกระเพื่อม  คือใจนั้นจะเหมือนน้ำ  ใจนั้นจะมีคลื่น  ใจนั้นจะทำให้มีความเคลื่อนไหว  เราก็เห็นได้  ถ้าใจนั้นโดนอย่างแรงก็อาจจะหก อาจจะออกมา

หมายความว่า  สมมติเราอยู่เฉยๆ  ใครเข้ามาตีหัวเราหรือมาต่อย เราก็โกรธ แล้วก็ต่อยตอบไปเลย  นี่ใจมันหกออกมา  เราก็ดู  ในการดูใจนี้ก็เป็นการดูปฏิกิริยาของใจ ความเคลื่อนไหวของใจ  คราวนี้ก็ได้ถึงเห็นใจแล้ว  ใจที่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวต่างๆ

และก็ใจนี้ทำให้เรามีความสุขหรือมีความทุกข์  ใจนี้เองเมื่อมีความสุข บางทีก็ลิงโลดดีใจมาก  อาจจะทำให้เสียหายก็ได้  กระโดดโลดเต้นหกคะเมนลงมาขาหักก็ได้  เป็นสิ่งธรรมดา  คือหมายความว่า  แม้แต่มีความสุขก็ทำให้มีความทุกข์ต่อไปได้ ...

 

[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.

ธรรมจากพระโอษฐ์: ไขความลับใน"หัวใจ"ด้วยการใช้"สมาธิ" !!!

นิวรณ์ : สิ่งที่ปิดกั้นสมาธิ [2]

 

... คราวนี้ เราก็เจอแล้วว่า ส่วนหนึ่งของสวิตช์ไฟหรือส่วนหนึ่งของกลไกที่จะทำให้มีความสว่างคือใจ  ใจนี้เมื่ออยากทราบก็จะต้องปฏิบัติหลายอย่าง

ตอนแรกเราจะไม่เห็นใจ  เพราะว่าเมื่อเราดูไป เราก็เกิดความฟุ้งซ่าน เราเกิดความรู้สึกโลภ รู้สึกอาจจะโกรธด้วยซ้ำ  จึงทำให้มีสิ่งที่มาปิด  คือปิดด้วยสิ่งที่ท่านเรียก “โมหะ”  คือ ความโง่ ความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง  มันปิดบังใจและปิดบังความจริง  ฉะนั้น จะต้องหาทางที่จะเปิด เปิดม่านนั้น

เมื่อเปิดม่านนั้นก็จะต้องพยายามที่จะทำให้ใจนี้สงบ  อันนี้ก็มาถึงที่เรียกว่า “สมถะ” หรือ “สมาธิ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่ว่า  บางคนก็บอกว่า การนั่งสมาธินี้ระวังดีๆ  อาจจะเป็นบ้าก็ได้  อาจจะแย่ ลำบาก ไม่มีทางที่จะทำ น่ากลัว

แต่ว่าสมาธินี้ก็ต้องเริ่มอย่างเบาๆ ก่อน  คือว่าจะต้องมีความตั้งใจ ให้จิตใจนี้ไม่ไปเกาะเกี่ยวกับอะไรก็ตาม  หมายความว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการปัดกวาดสิ่งที่เป็นม่าน หรือจะเป็นสิ่งที่คลุม ไม่ทำให้สงบได้ ไม่ทำให้เกิดความนิ่งแน่ได้  การที่จะให้เกิดความสงบคือสมาธินี้ จึงต้องพยายามดูให้เห็นว่าอะไรมาปิดบัง  เมื่อถอนสิ่งที่ปิดบังนั้นทันใดก็ได้สมาธิ

โดยมาก เราจะทำอะไร เราก็คิดถึงอะไรสารพัดไม่แน่  คือหมายความว่า เราไปติดในเรื่องอื่น  อย่างสมมติว่า เราจะเดิน  เดินไปไหน  ถ้าสมมติว่า เราลุกขึ้นยืน แล้วเราอยากออกจากห้องโถงนี้  เราไม่เห็นประตู  เราไม่เห็นอะไร  เราจึงต้องถอนสิ่งที่อยู่ข้างหน้าตาเราก่อนหันไปในทางที่จะเห็นสิ่งที่เหมาะสมในการกระทำ คือประตู

 

ถ้าสมมติว่า เราดูฝาผนัง หรือดูม่าน หรือดูเพดาน  สิ่งเหล่านั้นมันปิดบัง ไม่เห็นประตู  เราก็จะต้องเอาจิตใจของเราออกไปจากฝาผนัง หรือออกจากเพดาน หรือออกจากม่าน เอาไปไว้ที่ประตู  หมายความว่า  ขั้นแรก เราต้องการประตู  เราก็จะต้องทิ้งฝาผนัง หรือเพดาน หรือม่าน ที่เรากำลังดู  หมายความว่า สิ่งที่กีดขวางไม่ให้สามารถที่จะได้เห็นสิ่งที่เราต้องการ

ถ้าเราบอกว่า เราดูฝาผนังบ้าง ดูเพดานบ้าง ดูม่านบ้าง  เราไม่มีทางที่จะดูประตู  แต่ว่าถ้าเราตัดสินใจว่า ตอนนี้ไม่ใช่ภาระของเราที่จะดูเพดาน ดูฝาผนัง หรือดูอะไร  เป็นภาระที่จะไปหาประตู  เราก็จะถอนออกมาจากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่

ส่วนมากเรามีความชอบอะไรก็เรียกว่ามีกามราคะ มีโทสะ คือพยาบาท  และบางทีก็ไม่ใช่โทสะหรือราคะอะไร  มีความฟุ้งซ่านแกว่งไกวไปที่โน่นที่นี่  เดี๋ยวอันนี้ก็ไม่เอา อันโน้นก็ไม่เอา  มันไม่มีทางที่จะมีความสงบ  หรือบางทีเราก็พยายามหาความสงบ  เราไม่มีความเพียรพอ  เรามันง่วง เรามันหาว  บางทีเราก็เกิดมีสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถ  มันย่อหย่อน  บางทีก็ไม่เชื่อว่ามีประตูด้วยซ้ำ  ต้องปัดกวาดความลังเลสงสัยอะไรต่างๆ เหล่านี้

สิ่งที่ไม่ดีคือสิ่งที่ทำให้เราฟุ้งซ่าน ทำให้เราไม่สามารถที่จะทำใจให้นิ่งๆ เพราะว่ามีสิ่งที่มาปิดบังดังนี้  แต่ถ้าเราพยายามที่จะดูว่ามีสิ่งที่ปิดบัง และก็บอกว่า  เอา... ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องไม่ใช่เวลาที่จะเอาสิ่งมาปิดบัง  ถอนปิดบังเหล่านี้  เราก็ได้สมาธิ ได้ทันทีเลย  นี้เรียกว่า “สมาธิ” ...


[2] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.

 

 

เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์

ธรรมจากพระโอษฐ์: ไขความลับใน"หัวใจ"ด้วยการใช้"สมาธิ" !!!