เคสแรกก.พาณิชย์ ชงใช้ม.44ยึดทรัพย์โกงจีทูจี ..."อภิรดี"การันตีตามบี้ให้ชดใช้

เคสแรกก.พาณิชย์ ชงใช้ม.44ยึดทรัพย์โกงจีทูจี ..."อภิรดี"การันตีตามบี้ให้ชดใช้

ความเสียหายเกี่ยวกับโครงการรับจำข้าวเริ่มความคืบหน้าการลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองให้นักการเมืองและข้าราชการรวมทั้งหมด 6 คน ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)ปริมาณ 6.2 ล้านตัน ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นถึง 18,743 ล้านบาท ทางฝั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาจมีความคืบหน้าโดย  อาจจะจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 กำหนดบุคคลเพื่อใช้อำนาจสั่งยึด อายัด และนำทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาด
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองให้นักการเมืองและข้าราชการรวมทั้งหมด 6 คน ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเคสแรกของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่การซื้อขายปกติ จึงจำเป็นต้องดูให้รอบ คอบ ต้องเป็นไปตามกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มีการไม่เซ็นเพื่อเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย เพราะมีหน้าที่ต้องเซ็น ก็จะเซ็น ถ้าทุกอย่างมีความชัดเจนแล้ว และมั่นใจว่าจะดำเนินการได้ก่อนที่จะหมดอายุความในเดือนก.พ.2560 การซื้อขายข้าวจีทูจีที่เกิดขึ้น รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาแก้ไข นำกลับเข้าสู่ความถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และขอให้เชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐบาล ขอให้อดทนรอ เพื่อความถูกต้อง เพื่อที่จะไม่สร้างปัญหาต่อไปในอนาคต สำหรับประเด็นที่ยังเป็นปัญหา และจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะต้องดำเนินการด้วยความถูกต้อง รัดกุม และไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนหรือข้อคัดค้านขึ้นมาในภายหลัง จึงต้องมีการหารือกับนักกฎหมาย เพื่อหาทางออกและปิดช่องโหว่ที่เป็นจุดเสี่ยงให้ได้ มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ผู้มีอำนาจในการยึดทรัพย์ว่าจะเป็นใคร เพราะเป็นความรับผิดทางละเมิดที่จะต้องมีการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งในส่วนของข้าราชการ กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดี เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งอายัดทรัพย์ได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของนักการเมือง กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจ ทำให้มีปัญหาในการดำเนินการว่าจะเป็นใคร โดยทางออกในประเด็นนี้ ล่าสุดได้มี การเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รอง นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันหาทางออกว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะหากกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็อาจจะจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 กำหนดบุคคลเพื่อใช้อำนาจสั่งยึด อายัด และนำทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาด เพื่อแก้ปัญหาติดขัดตรงนี้ก็ได้ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าหากใช้มาตรา 44 นายกรัฐมนตรีก็อาจจะถูกโจมตีจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ว่าใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ส่วนประเด็นที่จะให้สำนักงานคณะกรรม- การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาช่วยในการยึดทรัพย์นั้น ไม่สามารถ ดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิด ซึ่งทางออกอีกทาง หากไม่ใช่มาตรา 44 อาจให้ศาลปกครองออกคำสั่งบังคับออกมา เพราะฝ่ายนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ากระบวนการในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการบังคับทางปกครองอยู่แล้ว
ด้าน นายดิศทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอให้ใช้มาตรา 44 ยึดทรัพย์นักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจีว่า ขณะนี้ยังพูดคุยกันอยู่ในวงกว้าง ตนยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเขาเสนออะไร จึงต้องมาดูรายละเอียดกันอีกครั้ง
เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการกับนักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะถูกบังคับทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี เราจะได้ย้อนกลับไปตรวจสอบชุดข้อมูล

สำหรับรายชื่อนักการเมือง และข้าราชการ 6 คน ได้แก่
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์
นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์
 พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์
 นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
 และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
ที่ผ่านมากระบวนการทางปกครองที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การสรุปตัวเลขความเสียหาย ถูกกล่าวหาจากฝ่ายของอดีตรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่ว่าการเลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งจงใจเล่นงานทางการเมือง ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็พยายามอธิบายว่า นี่เป็นการบังใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมตามปกติ ให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น อำนาจตามกฎหมายที่จะถูกนำมาใช้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวประกอบไปด้วยกฎหมายและระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ
1. พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คือ การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่ เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการไม่ เหมาะสมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ ตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดก็จะมี การฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้นทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หรือ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนั้น ยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วม ในระบบกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับ ให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่น ด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะได้เงินครบ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ และยังเป็นการบั่นทอนกำลังขวัญในการ ทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหารเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้า ตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควร เพราะเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน อนึ่ง การให้คุณ ให้โทษแก่เจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังมีวิธีการในการบริหารงานบุคคล และการดำเนินการทางวินัยกำกับดูแลอีกส่วนหนึ่งอันเป็นหลักประกันมิให้เจ้าหน้าที่ทำการ ใด ๆ โดยไม่รอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการ ปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความ เสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคน มิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงานของรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เช่นเดียวกันกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุถึงการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ดังนี้โดยที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  ขึ้น และกฎหมายดังกล่าวมีหลักการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางปฏิบัติในเรื่องความรับผิดทางแพ่งที่ทางราชการถือปฏิบัติในปัจจุบัน โดยได้แยกความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ออกเป็นเหตุที่เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ และที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่
โดยเมื่อมีความเสียหายเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น หน่วยงานของรัฐจะต้องรับภาระชดใช้ค่าเสียหายไปก่อน ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐเพียงใดนั้น ให้ไปไล่เบี้ยต่อไปในภายหลัง โดยจะยึดหลักว่าจะเรียกเอาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเฉพาะกรณีความเสียหายนั้นเกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
นอกจากนี้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทนได้โดยคำนึงถึง รายได้ ฐานะ ครอบครัว  และความรับผิดชอบ และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกฟ้องและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวกับทางราชการ สมควรวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้ตามข้อกฎหมายก็สามารถลำดับขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้
1.เริ่มต้นจากการปิดสำนวนฟ้องแพ่งกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์
2.ต่อจากนั้นคณะกรรมการสรุปตัวเลขความเสียหายเสนอให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
3.ขั้นต่อไปก็จะส่งสำนวนให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
4.สุดท้ายจะเปิดโอกาสให้จำเลยได้ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าใช้สิทธิ์ จะสามารถสู้ถึงศาลปกครองสูงสุด แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิจะโดนยึดทรัพย์
 คงต้องติดตามว่ากระทรวงพาณิชย์เสนอให้ใช้มาตรา 44 ยึดทรัพย์นักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจี หรือไม่