ฟังพระสุรเสียง "ในหลวงรัชกาลที่10" มีพระราชดำรัสต่อ"องคมนตรี"  ..."ได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว " (มีคลิป)

เวลา 18.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระ

 

เวลา 18.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายเกษม วัฒนชัย, นายพลากร สุวรรณรัฐ, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, นายศุภชัย ภู่งาม, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ,พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

 

การนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า "ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

 

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า

 

"ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ"

 

 

สำหรับองคมตรีที่ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในครั้งนี้ จะมีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 7  คน และผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งใหม่ จำนวน 3 คน

 

สำหรับประวัตโดยย่อ ขององคมนตรีทั้ง 10 คนนั้น มีรายละเอียดดังนี้

 1.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  ปัจจุบันอายุ 73 ปี  อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

เริ่มรับราชการในยศร้อยตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จากนั้นจึงไปศึกษาต่อหลักสูตรเสนาธิการทหารบก ที่สหรัฐอเมริกา  และทำงานในหน่วยรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บิดาก็ยังเป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ใน พ.ศ. 2529 - 2531 พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ต่อมาสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ดำรงตำแหน่งและเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

8 เมษายน พ.ศ. 2551 พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กลับดำรงตำแหน่ง องคมนตรี

 

2.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ นายเกษม  วัฒนชัย ปัจจุบันอายุ 75 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในอดีตได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมรสกับคุณหญิง รัชนีวรรณ วัฒนชัย

 

โดย น.พ.เกษม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (สมัยแรก) ก่อนที่จะขอลาออกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนของปีเดียวกัน หลังจากรับตำแหน่งเพียง 3 เดือน จากนั้นในวันที่ 18 กรกฎาคม ของปีเดียวกัน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี   นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

3.นายพลากร  สุวรรณรัฐ ปัจจุบันอายุ 68 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของนายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และหม่อมราชวงศ์ประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ

นายพลากร สุวรรณรัฐ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท M.A.I.Aจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ และผ่านการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) , กรรมการบริหารมูลนิธิอานันทมหิดล และกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา

 

 

4.ศาสตราจารย์พิเศษอรรถนิติ  ดิษฐอำนาจ ปัจจุบันอายุ 72 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  การศึกษาชั้นมัธยมศึกษา เข้าศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย และจบปริญญาโทด้านกฎหมาย จาก Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ,อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ปี 2542 และในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน ได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2544 ได้ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะได้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลฎีกาได้ โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2545 จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกา ประมุขศาลยุติธรรม คนที่ 34 โดย นายอรรถนิติ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกานานถึง 2 ปี โดยเกษียณราชการเมื่ออายุครบ 60 ปี

-และแม้นว่าจะเกษียณราชการแล้ว นายอรรถนิติ ยังคงปฏิบัติงานด้านกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปัจจุบันเป็นประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ นายอรรถนิติ ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์หลายลำดับชั้น รวม 10 ลำดับ โดยก่อนเกษียณราชการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2547 นอกจากนั้น ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2543นายอรรถนิติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550

 

๕.นายศุภชัย  ภู่งาม  ปัจจุบันอายุ 72 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 39

 

สำหรับนายศุภชัย ภู่งาม นั้นเคยเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา นนทบุรี ก่อนเข้ามาเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยงานศาลแพ่ง

ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ฝ่ายวิชาการ) รองอธิบดีศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 3 หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3

นายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 สืบต่อจากนายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ และเป็นผู้นำคณะผู้พิพากษาเข้ารับพระราชกระแสรับสั่งให้ตุลาการศาล ยุติธรรมช่วยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองในช่วงกลางปี พ.ศ. 2548ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี

๖. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ปัจจุบันอายุ 70 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโส

นายชาญชัย เป็นผู้มีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการเมือง อันเนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 2 ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภเป็นประธานก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร หลังจากที่เกษียณอายุราชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้พิพากษาอาวุโสศาลแพ่งธนบุรี แต่ทำงานได้เพียง 2 วันจึงได้ลาออกจากตำแหน่ง

ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เคยถูกทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดทาง คปค. ได้ตัดสินใจเลือกเลือกพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาจึงถูกเลือกให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และได้รับพระบรมราชการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2549ต่อมาในวันที่ 16 ส.ค.50 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี

 

 

7.พล.อ.อ.ชลิต  พุกผาสุข  ปัจจุบันอายุ 68 ปี อดีตองคมนตรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  เลขาธิการมูลนิธิพระดาบส อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศของไทย และอดีตรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คนที่ 1

พล.อ.อ. ชลิต เกิดในครอบครัวทหาร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 โรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 13 โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง รุ่นที่ 40 โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ 27 วิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 25 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 41 ผ่านหลักสูตรครูการบินไอพ่น โดยทุน IMETP ที่ซานอันโตนิโอ รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา

 

เริ่มรับราชการในตำแหน่งสำคัญ คือ ผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23, เสนาธิการกองบิน 23, รองผู้บังคับการกองบิน 1, ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ, ผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทยประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย, ผู้บัญชาการกองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ, , ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ, รองเสนาธิการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ,ผู้บัญชาการทหารอากาศ และราชองครักษ์พิเศษในปี 2546ต่อมาในวันที่ 18 พ.ค.54 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี

 

8. พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ ปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นบุตรชายของพันเอก(พิเศษ)ศิริ รัตนสุวรรณ และนางชม้อย รัตนสุวรรณ ชาวกรุงเทพมหานครจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร.23) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

พล.อ.ดาว์พงษ์ เริ่มต้นชีวิตราชการทหารครั้งแรกกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จนกระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) รองแม่ทัพภาค 1 ก่อนที่ จะได้เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาถูกปรับให้ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน

9. พล.อ.ธีรชัย  นาควานิช ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นบุตรของพลตรี ธวัชชัย นาควานิช กับหม่อมราชวงศ์พิศวาส ดิศกุล นาควานิช จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รุ่นที่ 15

จากนั้นเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 รุ่นเดียวกับ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก ,แม่ทัพภาคที่ 1 ,ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบก

 

10. พล.อ.ไพบูลย์  คุ้มฉายา ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นชาวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สมรสกับนางพจนี คุ้มฉายา การศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนอู่ทอง และเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 26 (จปร.26) รุ่นเดียวกับพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

 

การทำงาน อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ , แม่ทัพภาคที่ 1 , ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,สมาชิกคสช.และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

 

 

 

 

อ้างอิงจาก ข่าวในพระราชสำนัก และ รายการเจ้าข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก

เรียบเรียงโดย ชนุตรา สำนักข่าวทีนิวส์