ทำความรู้จัก...พระครูพราหมณ์ หรือ พระมหาราชครู “คณะพราหมณ์”ผู้มีหน้าที่สำคัญในทุกงานพระราชพิธี

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

ทำความรู้จัก...พระครูพราหมณ์ หรือ พระมหาราชครู “คณะพราหมณ์”ผู้มีหน้าที่สำคัญในทุกงานพระราชพิธี

              ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครนั้นเป็นที่พำนักของพราหมณ์ราชสำนัก พราหมณ์เหล่านี้ มีฐานะเป็นข้าราชการในพระราชสำนัก ขึ้นตรงต่อกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

             การแต่งตั้งตำแหน่งพราหมณ์เหล่านี้ สันนิษฐานว่า มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมา ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า สมัยนั้นมีตำแหน่งพระครูพราหมณ์อยู่หลายตำแหน่ง ที่กล่าวตรงกันในพระราชพงศาวดาร และคำให้การต่างๆ ได้แก่ ตำแหน่งพระครูพิธี พระครูปุโรหิต พระครูพิเชษฐ์ และพระครูมหิธร

 

             อนึ่ง เรื่องบทบาทหน้าที่ของพราหมณ์แต่ละตำแหน่งในสมัยอยุธยานั้นยังไม่ได้ข้อสรุปตรงกัน  เนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมาใน พ.ศ. 1978 รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการตรากฎหมายศักดินา และกล่าวถึงตำแหน่งของพราหมณ์ พร้อมศักดินาแยกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งใช้กันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีรายละเอียดในกฎหมายตราสามดวง เล่ม1

               จากกฎหมายศักดินาในสมัยอยุธยา บ่งชี้ถึงการแบ่งตำแหน่งออกเป็นชั้นพระมหาราชครู พระราชครู พระครู รวมถึงขุนนางที่เกี่ยวเนื่องกับคณะพราหมณ์ บางตำแหน่งได้สืบทอดมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

               ในเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองหรือผู้ปกครองเมืองได้แต่งตั้งพราหมณ์บางคนให้เป็นหัวหน้าและผู้ช่วยรองๆ ลงไป เช่นเดียวกับในราชสำนักอยุธยา เช่น หัวหน้าพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช มีตำแหน่ง แผดงธรรมนารายณ์ มีหน้าที่ปกครองคณะพราหมณ์และดูแลรักษาเทวรูปและเทวสถานต่างๆ รองหัวหน้ามีตำแหน่ง แผดงศรีกาเกีย สองตำแหน่งนี้ ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ต่อมา หัวหน้าคณะพราหมณ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นออกพระธรรมนารายณ์ฯ ผู้ช่วยได้เลื่อนเป็นที่ออกพระศรีราชโภเบนทรฯ หัวหน้าพราหมณ์ชั้นหลังๆ ต่อมาได้รับอิสริยยศเป็นที่ พระรามเทพมุนีศรีกษัตริย์สมุทร

              ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการบันทึกรายนามผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูประจำแต่ละรัชกาล นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  ซึ่งในเอกสารลายมือของพระมหาราชครูพิธี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล)  บันทึกไว้ว่า

ได้พบประวัติพราหมณ์นี้ในสมุดข่อยในพระบรมมหาราชวัง จึงได้คัดลอกไว้ มีดังนี้

รัชกาลที่ ๑    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  สมบุญ

รัชกาลที่ ๒    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  บุญคง

รัชกาลที่ ๓    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  ทองคำ

รัชกาลที่ ๔    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  พุ่ม

รัชกาลที่ ๕    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ อ่าว

รัชกาลที่ ๖    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ อุ่ม  คุรุกุล

รัชกาลที่ ๗    มีพระราชครูวามเทพมุนี (หว่าง   รังสิพราหมณกุล)

รัชกาลที่ ๘    มีพระมหาราชครูพิธี (สวาสดิ์   รังสิพราหมณกุล)

รัชกาลที่ ๙    มีพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์   รังสิพราหมณกุล)

        พระครูอัษฎาจารย์ (ละเอียด  รัตนพราหมณ์)

ปัจจุบัน ได้แก่ พระราชครูวามเทพมุนี  (ชวิน  รังสิพราหมณกุล)

ทำความรู้จัก...พระครูพราหมณ์ หรือ พระมหาราชครู “คณะพราหมณ์”ผู้มีหน้าที่สำคัญในทุกงานพระราชพิธี

            ปัจจุบันการแต่งตั้งพราหมณ์ราชสำนัก มีระเบียบปฏิบัติคือ ต้องมีเชื้อสายของพราหมณ์ และต้องเป็นบุตรของพราหมณ์ราชสำนัก

           ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๗ สายตระกูล ได้แก่ รังสิพราหมณกุล รัตนพราหมณ์ ภวังคนันท์ สยมภพ วุฒิพราหมณ์ นาคะเวทิน โกมลเวทิน

         นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าคณะพราหมณ์ราชสำนัก แล้วจึงได้บวชเรียกว่า "บวชสามสาย" ต่อมา เมื่อพระครูพราหมณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นพราหมณ์ราชสำนัก ก็จะเสนอชื่อไปยังกองพระราชพิธี แล้วจึงบรรจุเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก แต่ยังไม่สามารถประกอบพระราชพิธีได้จนกว่าพระครูพราหมณ์จะเห็นชอบ จึงได้บวชเรียกว่า "บวชหกสาย" จากนั้นเสนอต่อกองพระราชพิธี และเสนอต่อไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

              สำหรับตำแหน่งพระราชครูพราหมณ์ในปัจจุบันคือ ตำแหน่ง "พระมหาราชครู" หรือที่เรียกกันว่า คุณพระใหญ่ หมายถึง พระราชครูที่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่พระมหากษัตริย์ แล้วจึงได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้น ในแต่ละรัชกาล จึงมีพระมหาราชครูเพียง ๑ ท่าน ตำแหน่งรองลงมาคือ พระราชครู ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพราหมณ์ ที่ไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตำแหน่งต่อมาคือ พระครู และพราหมณ์ ตามลำดับ

ทำความรู้จัก...พระครูพราหมณ์ หรือ พระมหาราชครู “คณะพราหมณ์”ผู้มีหน้าที่สำคัญในทุกงานพระราชพิธี

      ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งพระครูพราหมณ์ คือ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล)

        คุณชวิน รังสิพราหมณกุล เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2496 เป็นบุตรของพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) กับสิริมา รังสิพราหมณกุล (สกุลเดิม กฤษณะสุวรรณ)ซึ่งสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และบวชเป็นพราหมณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2521

             โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์จากพระครูวามเทพมุนีเป็นพระราชครูวามเทพมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2542 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้ง พระราชครูวามเทพมุนี เป็น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบุลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์ พฤฒาจาริย์ ตำแหน่งประธานพระครูพราหมณ์ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

              โดยล่าสุดนี้ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวชบรมหงส์ พรหมพงศ์พฤติจาริย์ ประธานพระครูพราหมณ์ และหัวหน้าพราหมณ์หลวง คนปัจจุบัน เป็นผู้นำบวงสรวงในพิธีบวงสรวงเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ พระยานมาศ และเครื่องประกอบในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

 

จินต์จุฑา สำนักข่าวทีนิวส์ เรียบเรียง

ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ และ http://www.devasthan.org/board_main.html